กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพ ในวันครบรอบการรัฐประหารปีที่ 5

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.05.22
กรุงเทพฯ
190522-TH-protest-coup5thAnniv-1000.jpg กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารชูภาพวาดผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารคสช. ในวันครบรอบรัฐประหาร 5 ปี ภาพวาดกว่า 20 ชิ้น โดย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ (ยืนกลาง) อดีต ส.ส. จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ได้นำมาจัดแสดงที่สี่แยกราชประสงค์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ประชาชนกว่า 50 คน รวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อรำลึกการครบรอบ 5 ปี การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหาร คืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน และหยุดการสืบทอดอำนาจต่อในรูปแบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นายดอน หอมมณี อาชีพรับจ้างทั่วไป ที่ร่วมชุมนุมในเย็นวันนี้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

“การบอกว่า เห็นด้วยกับรัฐประหาร มันทำให้เป็นคนดูไร้รสนิยม ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย” นายดอน หอมมณี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์

อย่างไรก็ตาม นายดอน คิดว่าหลายๆ โครงการของรัฐบาลทหาร เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น บัตรคนจน หรือรถไฟความเร็วสูง ที่จริงๆ แล้วรัฐบาลพลเรือนก็ต้องทำอยู่แล้ว เช่น บัตรคนจน หรือรถไฟความเร็วสูง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะรัฐมนตรีรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย พร้อมด้วยการแต่งตั้งรัฐบาลซึ่งประกาศจุดยืนว่าจะปฎิรูปประเทศ ขจัดกลุ่มต่อต้านสถาบัน และสร้างความปรองดองภายในประเทศ  ปัจจุบัน ครบรอบ 5  ปีของการรัฐประหารแล้ว และผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อีกทั้งพรรคที่เชื่อว่า จะสนับสนุนการอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะไม่ใช่พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อถูกถามว่า ต้องการกล่าวอะไร เนื่องในวันครบรอบ 5 ปี คสช.

“อย่าไปให้ความสำคัญกับวันไหนเลย” พลเอกประยุทธ์ กล่าวบ่ายเบี่ยง

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าว แก่เบนาร์นิวส์ว่า 5 ปี ภายใต้การควบคุมอำนาจบริหารโดยรัฐบาลทหาร คสช. ยังคงพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพ และสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน

“เป็นช่วงที่ได้เห็นอะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น คสช. ใช้อำนาจแบบอ้างอิงกฎหมาย คสช. ไม่เน้นการใช้อำนาจกำลังทหารทางกายภาพ แต่กฎหมายที่ใช้ก็เป็นกฎหมายที่เขียนเอง แล้วกระบวนการการตีความอยู่ในมือ คสช. ทั้งหมด คนที่เริ่มตั้งข้อหาก็เป็น ทหาร คสช. หรือ ตำรวจ ที่เขาสามารถควบคุมได้ ใช้ศาลทหาร ในการพิจารณา ทำให้ผลลัพท์ของคดีได้อย่างที่ คสช.ต้องการ เขาอ้างว่ากระบวนการต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนแล้ว” นายยิ่งชีพ กล่าว

“บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในยุคนี้จะเป็นไปในลักษณะที่จงใจสร้างความหวาดกลัว ไม่ได้จับทุกคนที่วิจารณ์ คสช. แต่สร้างความกลัวซ้ำๆ เพื่อให้คนเซ็นเซอร์ตัวเอง นอกจากกระทบถึงสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังกระทบสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนด้วย ตอนนี้ มีแนวโน้วว่าประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ เชื่อว่าบรรยากาศนี้ จะยังดำรงอยู่ต่อไป การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป” นายยิ่งชีพ กล่าวเพิ่มเติม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจาก คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน มีผู้ถูกจับกุมโดย คสช. อย่างน้อย 625 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 99 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 117 คน มีผู้ถูกตั้งข้อชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน

“เราทุกคนไม่ทนต่อ คสช. หลายๆ คนไม่รู้ว่า 5 ปีที่ผ่านมามีประชาชนสองพันกว่าคน ได้รับผลกระทบ มีพลเรือนถูกเอาตัวขึ้นศาลทหาร 5 ปี ที่ผ่านมาเราถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงมากมาย” นางสาวณัฐฐา มหัทธนา กล่าวแก่ผู้ชุมนุม

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน (กลาง) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพวก รวม 13 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 กรณีรวมตัวชุมนุมต่อต้าน คสช. เมื่อสี่ปีที่แล้ว (22 พค. 58) ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 (เอพี)
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน (กลาง) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพวก รวม 13 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 กรณีรวมตัวชุมนุมต่อต้าน คสช. เมื่อสี่ปีที่แล้ว (22 พค. 58) ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 (เอพี)

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง  ซึ่งเพิ่งพ้นโทษจำคุกจากความผิดคดีหมิ่นเบื้องสูง พร้อมพวก 13 คน ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีรวมตัวชุมนุมต่อต้าน คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพฯ

“งง ว่าโดนได้ยังไง ไม่เข้าใจเหมือนกัน คิดว่าทุกการกระทำที่ทำไม่ได้ผิดอยู่แล้ว ถ้าผิดก็ไม่ทำ แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ เราอยู่เฉยๆ แล้ว 4 ปีแล้ว ก็เข้าใจว่าคดีนี้ คือไม่ต้องการให้พวกเราทำอะไรอีก” นายจตุภัทร์ กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม และไผ่ ดาวดิน ถูกหมายจับ เพราะประท้วงรัฐบาล คสช. พลเอกประยุทธ์ ในโอกาสครบรอบรัฐประหารปีแรก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่หน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และต่อมาพนักงานสอบสวน กำหนดให้ทุกคนมอบตัว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 แต่กลุ่มนักศึกษา ไม่ยอม และได้ทำกิจกรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในปัจจุบัน ได้รับนายรังสิมันต์และพวกขึ้นรถส่วนตัวหลบไป จึงถูกดำเนินคดีด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง