คสช.แจ้งตำรวจ 10 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง นำชุมนุมเสาร์ที่แล้ว
2018.03.30
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับ 10 แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากการรวมตัวเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายังกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2561
พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน กล่าวว่า พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ฝ่ายกฎหมายของคสช. เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้จัดและแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 10 คน ในข้อหาละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการจัดให้มีการมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข้อหายุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดอื่นๆ
“แจ้งความดำเนินคดีในเนื้อหาสาระที่ผู้ชุมนุมละเมิดคำสั่งของหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เป็นเรื่องมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และ ม.116 เดินทางเท้าบนถนน ผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เดี๋ยวจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติม ฝ่าฝืนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่าจะนัดวันที่ 9 เมษายน 2561 เฉพาะแกนนำกับผู้จัด 10 คน” พ.ต.อ.จักรกริศน์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
สำหรับผู้จัดและแกนนำการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในวันศุกร์นี้ประกอบด้วย นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายอานนท์ นำภา, นายปกรณ์ อารีกุล และน.ส.ศรีไพร นนทรีย์
นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำของกลุ่มฯ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า แม้ถูกแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ตนเองและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะยังเดินหน้ารณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งต่อไป โดยจะมีการชุมนุมในวันที่ 5, 12 และ 19-22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะเป็นการชุมนุมใหญ่ในวาระครบรอบ 4 ปี การยึดอำนาจของ คสช.
“กิจกรรมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถูกคดีก็สู้ไป หลายคนก็คิดว่าจะโดนคดีอยู่แล้ว เราเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้กองทัพบกเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างประชาชนหรือข้าง คสช. ให้จัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และสุดท้ายคือ ขอให้ยุบคสช. เรามองว่า คสช.สามารถแยกออกกับกองทัพได้ ถ้าวันนึงประชาชนต้องการไล่ คสช. แล้วถ้าทหารไม่แยกจาก คสช. ก็หมายความว่า ประชาชนก็ต้องไล่ทหารด้วย” นายรังสิมันต์กล่าว
ก่อนหน้านี้ ประชาชนซึ่งรวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคยจัดชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 เช่น การชุมนุมที่ทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬา การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน การชุมนุมที่จังหวัดนครราชสีมา การชุมนุมที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และการชุมนุมย่อยอื่นๆ ซึ่งทำให้มีแกนนำและประชาชนบางส่วนถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิด ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ต่อการเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งให้กองทัพบก แยกจาก คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในสัปดาห์นี้ว่า คสช. ไม่สามารถแยกกับกองทัพได้ และรัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปอยู่แล้ว
“บ้านเมืองกำลังเดินไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ว่าจะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์... กองทัพมันก็อยู่ในคสช. อันเดียวกันอยู่แล้ว” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ส่วน กรณีพรรคการเมืองประชุม เมื่อต้นสัปดาห์ กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โดยมีการเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งคสช.เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าว ตามรายงานจากบางกอกโพสต์วันนี้ ว่า ที่ผ่านมาเคยบอกแล้วว่า การยกเลิกคำสั่งคสช.นั้น ต้องมีแน่นอน
"แต่ตอนนี้ต้องรอให้พรรคใหม่ ตั้งพรรคให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ทุกพรรคเดินไปพร้อมกัน ในเดือนมิ.ย.นี้"
เมื่อถามว่า การปลดล็อกให้พรรคต้องมีเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เห็นมีอะไรที่พรรคขัดแย้งกัน
ขณะเดียวกันวานนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลจากสื่อมวลชนญี่ปุ่นว่า นายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้หลบหนีการลงโทษจำคุกในประเทศไทย ได้เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือของ นายฮาจิเมะ อิชิอิ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยญี่ปุ่น ซึ่งพลเอกประวิตร ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามตัวอยู่