ฝ่ายค้าน-ไทยภักดี ถกเถียงแก้กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน
2023.04.21
กรุงเทพฯ
พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในระหว่างการดีเบตในหัวข้อสิทธิมนุษยชนของ 10 พรรคการเมือง เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ โดยพรรคไทยภักดีแย้งว่าจะต้องแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้มแข็งกว่าเดิม
การแก้กฎหมาย เป็นประเด็นที่ตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคได้หยิบยกขึ้นมาดีเบตบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ “เลือกตั้ง 66 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจัดขึ้นโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางผู้สนใจฟังพันกว่าคน
นักกิจกรรมทางการเมืองบางคน เช่น นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้มาร่วมฟังการดีเบตที่หน้าเวทีกลางแจ้ง ขณะที่ผู้ฟังหลาย ๆ คน สวมเสื้อสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาล
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชี้ว่าหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยเผชิญปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายข้อ เพราะมีการออกกฎหมายที่ล้าสมัย และคำนึงถึงความมั่นคงมากกว่าสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายเหล่านั้น
“การแก้ไขเรื่องเสรีภาพการแสดงออก คือการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะมันมีการใช้กฎหมายผิด ๆ เช่น ไม่ให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุผล เหตุผลไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย การแก้เพียงบอกให้เจ้าหน้าที่ทำให้ถูกกฎหมายไม่พอ ต้องแก้ที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา และเรื่องสิทธิในการประกันตัว” จาตุรนต์ ระบุ
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนพรรคก้าวไกล ชี้ว่ากฎหมายบางมาตราถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น ๆ
“ต้องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, พรบ. คอมฯ, แก้ พรบ. ชุมนุม, แก้กฎหมาย ป. วิ อาญา, ฟ้องหมิ่นทั้งอาญาและแพ่ง, ป้องกันการ SLAPP (ฟ้องปิดปาก), แก้กฎอัยการศึก, การแก้ พรก.ฉุกเฉินฯ และยกเลิก พรบ. ความมั่นคงฯ และ การยุบ กอ.รมน. ด้วย” นายพริษฐ์กล่าว
“การแก้ไขประเด็นสิทธิมนุษยชนจะไม่เข้มแข็ง และชัดเจนเพียงพอ หากมีกติกาสูงสุดหรือว่ารัฐธรรมนูญของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว
“ผมไม่เคยคิดว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างปัญหาให้กับประชาชน คนที่มากล่าวว่ากฎหมายตัวนี้ไปรังแกประชาชนมันไม่จริง เพราะหลักฐานมันเกิดขึ้นจริง พรรคไทยภักดียืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปกครองโดยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เรายืนยันว่า เราจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่จะแก้ไขเพิ่มความคุ้มครองให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้มแข็งมากขึ้น” นพ. วรงค์ ระบุ
นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี (นั่งบนเก้าอี้ขวามือ) รอการดีเบตของ 10 พรรคการเมือง ที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ผมสีทอง นั่งหันหน้า) ซึ่งเป็นจำเลยในคดี ม. 112 นั่งอยู่ด้านล่าง วันที่ 20 เมษายน 2566 (เบนาร์นิวส์)
นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยอดอาหารประท้วงในเรือนจำระหว่างถูกฝากขัง ได้มานั่งฟังการดีเบตซึ่งในช่วงแรกได้นั่งบนลานด้านหน้าแนวเก้าอี้ที่ นพ. วรงค์ นั่งรออยู่
นางสาวทานตะวัน กล่าวว่า ตนหวังว่ารัฐบาลสมัยหน้าจะเปิดใจฟังรับเสียงประชาชน
“เราแค่อยากได้ว่า ไม่ว่าพรรคไหนที่ได้เป็นรัฐบาลก็แค่ฟังเสียงประชาชนให้มากเท่านั้นเอง แล้วคุณจะรู้เองว่าคุณควรจะพัฒนาส่วนไหนหรือแก้ปัญหาตรงไหน ถ้าเขาฟังเสียงประชาชน เป็นอย่างหนึ่งที่หนูว่าอยากให้ทุกพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลทำ” นางสาวทานตะวัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ และระบุว่าตนไม่สามารถคาดหวังอนาคตได้ เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,898 คน จาก 1,187 คดี โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 7 ราย ในนั้นเป็นเยาวชน 2 ราย ถ้านับเฉพาะคดี ม. 112 มีผู้ถูกดำเนินคดี 238 คน ใน 257 คดี ในนั้นเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 คน ใน 21 คดี
ส่วนตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ อดีตแกนนำรัฐบาลที่นิยมทหารแต่ได้เปลี่ยนท่าทีมาประนีประนอมในการเลือกตั้งคราวนี้ ระบุเพียงว่า ไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล
“ผมเห็นด้วยว่าสิทธิของแต่ละท่านต้องได้รับการคุ้มครองอย่างมุ่งมั่น และมีประสิทธิภาพ เช่น พรบ.ป้องกันและปราบปราม การทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย มันต้องเอามาบังคับใช้กัน ตอนนี้ไม่รู้เอาไปแช่อยู่ตรงไหน สิ่งที่อยากขจัดก็คือ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กฎหมายไหนดี ผมก็เห็นด้วยทั้งนั้น” นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าว
สำหรับ พรบ. ป้องกันการทรมานฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ มาตรา 22-25 ออกไป จากเดิมที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมาตราดังกล่าว กำหนดให้การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องบันทึกภาพ และเสียง การลงมติดังกล่าวถูกนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากวิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่จริงใจที่จะบังคับใช้กฎหมาย
ภาคประชาชนเรียกร้องจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องสิทธิมนุษยชน
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ชี้ว่า รัฐบาลไทยใช้การปราบปรามผู้เห็นต่างตนจึงอยากเห็นพรรคการเมืองต่าง ๆ แสดงจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชน
“รัฐไทยได้แสดงให้เห็นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่รัฐแสดงออกเชิงปรามและปราบ แทนที่จะส่งเสริม สิ่งหวังคือใกล้วันเลือกตั้งแล้ว อยากเห็นพรรคการเมืองต่าง ๆ ประกาศต่อสาธารณะถึงคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนเรื่องสิทธิมนุษยชนหากพรรคของพวกเขาได้เป็นรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็น”
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า โลกยุคใหม่ที่สื่อเข้าถึงคนมากขึ้น พรรคการเมืองควรต้องสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
“ค่านิยมแบบเก่าไม่เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันแล้ว เรื่องของสิทธิมนุษยชนจึงกลายมาเป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดคุยถกเถียงในสังคมผ่านความหลากหลายของอายุคน” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
“เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคทางการศึกษา ความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐาน และอื่น ๆ ซึ่งได้ตัวอย่างมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าประเด็นหลายประเด็น รัฐบาลใหม่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และการสมรสเท่าเทียม” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน