มีประชาชนอย่างน้อย 113 คน ที่ถูกละเมิดก่อนออกเสียงประชามติ
2016.07.14
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี (14 กรกฎาคม 2559) นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เกี่ยวกับประชามติฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 113 คน ที่ถูกละเมิดก่อนการออกเสียงประชามติฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
จากข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2559 มีผู้ถูกดำเนินคดีฯ ทั้งหมดอย่างน้อย 113 คน สามารถแบ่งเป็นข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ได้ทั้งหมด 94 คน ข้อหาละเมิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ห้ามการบิดเบือนเนื้อหา หรือชักจูงในการลงประชามติ 6 คน และกรณีที่ละเมิดทั้งสองข้อหาอีก 13 คน
นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่โดนจับกุมด้วยข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ประชามติฯ จากกรณีที่ตนเองและเพื่อน ไปแจกใบปลิวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดเคหะบางพลี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งตนเองเชื่อว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย
“การจับกุมพวกเรา มันสะท้อนให้เห็นปัญหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่มีปัญหามาก โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ พอไม่เคยศึกษา เขาก็ใช้หลักการว่า จับไว้ก่อนแล้วค่อยมาเปิดข้อกฎหมายทีหลัง” นายรังสิมันต์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“ซึ่งการทำแบบนี้ มันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากๆ กระทบต่อการรณรงค์ประชามติ โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำไม่ได้เลยในสายตาของเจ้าหน้าที่ พอการรณรงค์ทำไม่ได้ ข้อมูลต่างๆ ก็จะไม่ถึงมือประชาชน หรือถึงมือของประชาชนได้ไม่เพียงพอ” นายรังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติม
ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 113 คน หากแบ่งเป็นเขตจังหวัด จะพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดถึง 39 คน รองลงมาคือ ราชบุรี 30 คน สุรินทร์ 17 คน หนองบัวลำพู 15 คน และที่เหลือกระจัดกระจายในจังหวัดอื่นๆ อีกอย่างน้อย 12 คน โดยคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการจับกุมนักศึกษา 4 คน และผู้นักข่าว 1 คน ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากกรณีที่ตำรวจเห็นว่า อาจจะมีการเตรียมการเผยแพร่เอกสารคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559
ซึ่งนายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งนักเคลื่อนไหวกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอบ้านโป่ง แสดงความคิดเห็นผ่านเบนาร์นิวส์ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ เองเป็นกฎหมายที่มีปัญหา ซึ่งส่งผลทำให้การแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชนถูกจำกัด
“พ.ร.บ.ประชามติฯ กำลังควบคุมประชาชนในเรื่องการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่แค่รณรงค์นะ วันนี้ แค่คุณมีเอกสารที่ไม่ใช่เอกสารของ กกต. หรือ กรธ.คุณก็อาจจะมีความผิดได้แล้ว” นายปกรณ์กล่าว
ในประเด็นนี้ พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำการละเมิดผู้ใด เพียงแต่ใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งการใช้อำนาจทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้
“เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย แต่ว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีก็อาจจะมองว่าเขาถูกละเมิด แต่ว่าอย่างไรก็ตาม กระบวนการต่างๆ ก็เป็นที่ปรากฎชัดทางสื่อมวลชน หรือว่าพี่น้องประชาชนก็ติดตามเฝ้าดูตั้งแต่การแจ้งความการดำเนินคดี การส่งตัวไปในขั้นตอนต่างๆ ไปจนถึงการประกัน เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือกรอบกฎหมายและหน้าที่ที่มีอยู่” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวในวันนี้
“ขอยืนยันว่า ในทุกๆเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ใช้กรอบกฎหมายปกติ และยืนยันว่าไม่มีการปฎิบัติอะไรที่นำไปสู่ความรุนแรง” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
ตำรวจค้นหนังสือพิมพ์ประชาไท
เมื่อวันพุธ (13 ก.ค. 2559) หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานว่า ในวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสาร ได้เข้าตรวจค้นสำนักงานของประชาไท ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ แต่ไม่เจอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ หรือประชามติแต่อย่างใด
สน.สุทธิสาร ได้ขอหมายค้นสำนักงานข่าวประชาไท หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมดำเนินคดีนักศึกษา 4 คน และนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้นักข่าวประชาไทอีก 1 คน ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งเอกสารที่เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า อาจจะเตรียมไว้ในการเผยแพร่เพื่อรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ