โป๊ปฟรานซิส เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 20-23 พ.ย. 62

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.09.13
กรุงเทพฯ
190913-TH-announce-pope-800.jpg พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อ่านประกาศการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของโป๊ปฟรานซิส วันที่ 13 กันยายน 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกรนี้ สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการประกาศว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2562 โดยพระองค์จะประกอบพิธีมิสซาแบบสาธารณะ 2 ครั้ง สำหรับคริสตชนคาทอลิกทั่วประเทศ และสำหรับเยาวชน รวมถึงจะพบกับผู้นำศาสนาอื่นในประเทศไทยด้วย

การแถลงข่าวครั้งนี้ จัดขึ้นในเวลา 14.00 น. ณ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ โดยเป็นการประกาศพร้อมกันอย่างเป็นทางการร่วมกับที่ประเทศญี่ปุ่น และนครรัฐวาติกัน โดยการเยือนประเทศไทยและญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ถือเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งที่ 33 ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และเป็นครั้งแรกที่จะเสด็จเยือนประเทศไทย

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2562 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กำหนดการต่างๆ ของการเสด็จเยือนต่างๆ จะประกาศให้ทราบต่อไป” พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย อ่านประกาศอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน

มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการ สภาประมุขบาดหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการเสด็จฯ ว่า สำหรับสถานที่ที่โป๊ปฟรานซิส จะเสด็จเยือนนั้น ปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการระบุอย่างเป็นทางการ แต่จะเปิดโอกาสให้ชาวคริสต์ในประเทศไทยได้เข้าเฝ้าแน่นอน

“พันธกิจของสันตะปาปานั้น ก็คล้ายๆ กันทุกประเทศ คือ ไปช่วยประชาชน และเยี่ยมศาสนจักร เพื่อสันติภาพ ทำยังไงเพื่อจะยกศักดิ์ศรีของพวกเขา ไม่ว่าไปประเทศไหน พระสันตะปาปาก็จะพบกลุ่มชนพื้นบ้าน และผู้นำศาสนา ที่แน่นอนจะต้องทำแน่ๆ คือ มีพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งสำหรับประชากรคริสตชนคาทอลิกประเทศไทย และอีกครั้งนึง คือ คนรุ่นใหม่ เยาวชน ตามธรรมเนียม” ดร.วิษณุ กล่าว

“การเยี่ยมของพระสันตะปาปา เรามักจะเรียกเป็นทางการทั่วไป คือ การเยือนของผู้สืบตำแหน่งแทนของหัวหน้าอัครสาวก หรือผู้สืบตำแหน่งจากเซนต์ปีเตอร์ หรือนักบุญเปโตร ในสมัยนักบุญจอห์น ปอลที่ 2 เรียกการเยือนว่า การเสด็จอภิบาลสัตบุรุษ ในฐานะที่พระสันตะปาปา เป็นพระประมุขสูงสุดของศาสนาจักรโรมันคาทอลิก เหตุผลสำคัญที่สุดของการเยือนประเทศต่างๆ หรือประเทศไทย เพื่อจาริกเพื่อสันติภาพ ท่านจะเน้นอยู่เรื่องเดียวคือ นำสันติไปสู่มวลชน ไม่ใช่เฉพาะชาวคริสต์เท่านั้น บางประเทศมีคริสตชนน้อยมาก แต่พระสันตะปาปาก็เสด็จเพื่อไปสร้างสะพานสันติภาพ และในบริบทประเทศเรานี้ คือเพื่อเสวนาทางศาสนา เปิดมิติในการทำงานร่วมกับศาสนาต่างๆ” ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วิษณุ ระบุว่า สถานที่และกำหนดการการเยือนสถานที่ต่างๆในประเทศไทยของพระสันตะปาปาฟรานซิส ยังไม่ถูกกำหนดไว้ แต่การมีพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือมิสซา ครั้งแรกที่เปิดสำหรับคริสตชนทั่วไป คาดว่าจะจัดขึ้นในสนามกีฬา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ทรงเป็นพระสันตะปาปา ลำดับที่ 266 มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2479 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และประกาศนียบัตรสาขาวิชาปรัชญา จากวิทยาลัยมักซิโม ซานโฮเซ ทรงเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ วิทยาลัยอินมาคูเลด้า และเดล ซัลวาดอร์ ก่อนถวายพระองค์เป็นนักบวชบาทหลวงในคณะแห่งพระเยซูเจ้า

ก่อนได้รับเลือกขึ้นเป็นพระสันตะปาปา พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งจากนักบุญจอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอป แห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส และต่อมาได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล เมื่อปี 2544 ต่อมา ภายหลังที่สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์ เมื่อปี 2556 จึงทรงได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัล ในการประชุม “คอนเคลฟ (conclave)” ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบแทนนักบุญเปโตร หรือเซนต์ปีเตอร์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ทรงเลือกใช้พระนามว่า “Franciscus” ในภาษาละติน หรือ “Francis” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากนามของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรานซิสกัส ผู้ถือความยากจน สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า มิชชันนารีคณะโดมินิกันได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งแต่ปี 2054 และได้ตั้งรากฐานอย่างมั่นคงถาวร เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 ทรงสถาปนามิสซังสยามขึ้น (Apostolic Vicariate of Siam) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2212 ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรคาทอลิกจำนวน 388,468 คน และมี 11 เขตศาสนปกครอง (มิสซัง)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง