ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง กรณีประยุทธ์ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
2019.09.11
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
มติศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) บัญญัติว่า การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล มาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า... ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
“เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 46 วรรคสาม” ตอนหนึ่งของมติศาลรัฐธรรมนูญระบุ
ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
“เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 เวลา 9.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัส ในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1)” เอกสารเผยแพร่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยคำถวายสัตย์ฯ ตามรัฐธรรมนุญต้องระบุว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
แต่คำถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” โดยเติมคำว่า “ตลอดไป” แทนที่ ซึ่งกลายเป็นข้อสงสัยทางกฎหมายว่า รัฐบาลปัจจุบันจะมีสถานะสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ หลังจากนั้น นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ต่อมาที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเห็นว่า การกล่าวถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหาความชอบธรรมตามไปด้วย รวมถึงปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิ
นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมกันเข้าชื่อจำนวน 111 คน ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 18 กันยายน เวลา 14.00 น.
ขณะที่วันเดียวกันนั้นเอง สภาผู้แทนราษฎร ได้กำหนดให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบในวันที่ 18 กันยายน นี้ ตั้งแต่เวลา 9.30 เป็นต้นไป ไม่เกิน 24.00 ในวันเดียวกัน