นายกฯ ลั่นไม่ออก - ตำรวจฉีดน้ำสลายการชุมนุมนศ.

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.10.16
กรุงเทพฯ
201016-TH-protesters-1000.jpeg ผู้ประท้วงพยายามหยุดยั้งไม่ให้ตำรวจไทยรุกคืบการชุมนุม ที่ย่านสยามสแควร์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 ต.ค. 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 18.00 ET 2020-10-16

ในตอนค่ำของวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ที่นำโดยนักศึกษาและมีนักเรียนเข้าร่วม จนทำให้ผู้ชุมนุมต้องสลายตัวไปในเวลาก่อนสี่ทุ่ม โดยก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศลั่นว่าไม่ลาออกจากตำแหน่งตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุม

ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อให้การเห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเนื่องจากเกิดสถานการณ์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำร้ายผู้ใด พร้อมประกาศว่าตนจะไม่ลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

“ไม่ออก... ผมทำความผิดอะไรหรือ ผมผิดอะไร” นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาในครั้งนี้ว่าเหมือนกับ ฮ่องกงโมเดล โดยระบุว่า ขณะนี้ฮ่องกงเป็นอย่างไร ธุรกิจพังเสียหายหมด ผู้ชุมนุมเขาเป็นอย่างไร เขาเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ไทยเป็นประชาธิปไตย ตนก็อยากให้ทุกคนทำให้ดีที่สุด

ต่อมาในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกประกาศเตือนนักเรียน นักศึกษา ที่นัดมารวมตัวกันประท้วงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่ได้ย้ายไปที่ย่านสยามสแควร์ และสี่แยกปทุมวันแทน เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย พร้อมประกาศปิดการจราจรโดยรอบพื้นที่โดยรอบ

ในตอนพลบค่ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วยโล่ กระบอง ใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่ และใช้รถบรรทุกน้ำ 3 คัน บางคันปนแก็สน้ำตาและบางคันผสมน้ำสีฟ้า (เมทิลินบลู) เพื่อให้ติดผิวและเสื้อผ้าเพื่อการชี้ตัว ฉีดเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนรวมอย่างน้อย 11 คน และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 7 คน

“เป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ละเมิด พรก.ฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามขั้นตอนตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด และประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบแล้วให้ออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด เมื่อฝ่าฝืนจึงมีความจำเป็นบังคับใช้กฎหมาย โดยมีขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก” พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“จับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 7 ราย ขณะนี้ได้นำตัวส่งไปที่ ตชด. ภาค 1” พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายเล็ก (สงวนนามสกุล) อายุ 60 ปี ชาวกรุงเทพ ประกอบอาชีพเป็นกุ๊ก กล่าวว่า วันนี้ตนมาร่วมม็อบ เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

“วันนี้ ผมมาร่วมม็อบ เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง รัฐบาลเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง เด็กก็ชุมนุมเรียกร้องให้ออกไป ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ตะโกนด่าเฉย ๆ กับทุกสลายการชุมนุมถือว่าใช้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ทำไม่ดีใช้ความรุนแรงเกินไป” นายเล็กกล่าว

องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานนานาชาติ ล้วนติติงการปราบปรามด้วยกำลัง

นางมิเชล บาเชเลท์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและนักเคลื่อนไหวระหว่างประเทศอื่น ๆ ออกมาพูดต่อต้านการดำเนินการของรัฐบาลไทย

“เรากังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ข้อหาร้ายแรง รวมถึง ข้อหาอาญาฐานยุยงปลุกปั่นต่อบุคคลที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานโดยความสงบ” ราวินา ชัมดาซานี โฆษกหญิงของนางบาเชเลท์ กล่าวแก่สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์

ส่วน นายเคลมงต์ โวเล ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุม โดยสงบ ได้ทวีตแสดงความกังวลของเขาเช่นกัน

“ฉันกังวลมากเกี่ยวกับข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงใน #ประเทศไทย การประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง" และการจับกุมผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ เป็นการขวางกั้นเสรีภาพในการชุมนุม รัฐบาลควรอนุญาตให้ผู้ประท้วงใช้สิทธิของตนเองและแสวงการพูดคุย ไม่ใช่ปราบปรามพวกเขา”

ด้าน มิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาค ด้านการรณรงค์ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวอย่างตกใจเกี่ยวกับการใช้กำลัง-อุปกรณ์มากเกินไป ในการบังคับปราบปราม

“การใช้รถบรรทุกน้ำฉีดน้ำและสารระคายเคือง ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างรุนแรง การฉีดสีออกไปวงกว้างโดยไร้ขอบเขต ซึ่งอาจนำไปสู่เป้าหมายการจับกุมผู้ประท้วงโดยสงบทั้งหมด รวมทั้งนักข่าว หรือประชาชนทั่วบริเวณที่โดนสีไปด้วย” มิง ยู กล่าว

“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และอนุญาตให้มีการชุมนุมโดยสงบ รัฐบาลต้องปล่อยให้ผู้ประท้วงอย่างสันติแสดงความคิดเห็น - ไม่ทำให้ความตึงเครียดรุนแรงมากยิ่งขึ้น"

ผู้ชุมนุมถูกฉีดน้ำผสมด้วยแก๊สน้ำตาและสี ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 (รอยเตอร์)
ผู้ชุมนุมถูกฉีดน้ำผสมด้วยแก๊สน้ำตาและสี ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 (รอยเตอร์)

นักศึกษา หลายจังหวัดรวมตัว แสดงจุดยืน-ประนามการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่

ในวันนี้ช่วงเวลา 21.00 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่า 5,000 คน รวมตัวชุมนุมหน้าศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านและประนามการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่กรุงเทพ ในช่วงค่ำที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมไปทั้งหมด เพราะทั้งการจับกุม การสลายการชุมนุม และการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม มองว่าเป็นการคุกคาม และลิดรอนสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ส่วนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บริเวณลานสีบลู วันศุกร์นี้ มีกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาร่วม 500 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมจัดเวทีประชาธิปไตย เพื่อร่วมขับไล่ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และต่อต้านรัฐประหาร พร้อมส่งกำลังใจให้เพื่อนนักศึกษาที่ต่อสู้อยู่ในกรุงเทพ พร้อมออกแถลงการณ์ ประณามการกระทำของรัฐ รวมถึงแสดงการคัดค้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการจับกุมผู้ชุมนุม ที่ผิดหลักสากล และขอให้รัฐปล่อยตัวเพื่อน ๆ

นักเรียนรายหนึ่ง จากโรงเรียนในพื้นที่ จ.ปัตตานี กล่าวว่า "เรามาร่วมขับไล่ศักดินาต้านรัฐประหาร และมาร่วมส่งกำลังใจให้เพื่อนเราที่ต่อสู้อยู่ในเมืองกรุงเทพ เราจะไม่ปล่อยให้เพื่อนเราเดียวดาย ตอนนี้พวกเราถูกคุกคามทุกรูปแบบ เมื่อวาน มีเจ้าที่ทหารพร้อมอาวุธ ครบมือ ไปคุกคามที่บ้าน รุ่นพี่ สูฮัยมี ลือแบซา นายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วย"

ซึ่ง นายสูฮัยมี ลือแบซา นายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า "ทางบ้านผมได้โทรมาว่า มีเจ้าหน้าที่มาขอพบตัว และขอข้อมูลผม แต่ทางบ้านได้ตอบปฏิเสธไป และก่อนจากไป เจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่ด้วย พ.ร.ก ฉุกเฉิน กับทางบ้าน ว่าหากขึ้นไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีก อาจจะถูกจับได้"

ด้านพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ได้ประณามการสลายการชุมนุมของคณะราษฎรในวันนี้

“ขอประณามการกระทำที่เกินกว่าเหตุของรัฐบาล ในการสลายการชุมชนของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุม คือลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติ มารวมตัวเพื่อแสดงความคิดเห็นต้องการเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดี และเป็นการแสดงออกตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ไว้... ทั้งนี้หากประเทศเกิดความเสียหาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องรับผิดชอบในผลพวงที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

จับกุมนักเคลื่อนไหว ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลเข้าควบคุมตัว นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ขณะที่นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง และเป็นนักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต ในข้อหาเดียวกัน โดยทั้งสองคนถูกนำตัวไปส่งที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในวันนี้ว่า ทั้งสองถูกดำเนินคดี โดยพนักงานสอบสวน นำโดย พ.ต.อ.บุญโชติ เลี้ยงบำรุง ผู้กำกับสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 และทีมพนักงานสอบสวนจาก สน.ดุสิต ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่าคดีมีนาย ศรายุทธ สังวาลย์ทอง เป็นผู้กล่าวหา ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากทั้งสองได้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำการปลุกปั่นผู้ประท้วงให้ชูสามนิ้ว เมื่อขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา มาถึงยังสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านทิศตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล

ศูนย์ทนายฯ เปิดรายชื่อผู้ถูกจับกุมจากชุมนุมประท้วง 16 ตุลา

ในช่วงดึกของวันที่ 16 ต.ค. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกจับกุมแล้ว อย่างน้อย 12 ราย จากการสลายการชุมนุมและการควบคุมตัว ผู้เข้าร่วมชุมนุม 16 ตุลาคม บริเวณสี่แยกปทุมวัน ได้แก่ 1. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มนนทบุรีปลดแอก 2. ทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี นักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนปลดแอก 3. สมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดง 4. ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co 5. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมกลุ่มเส้นทางสีแดง 6. กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท 7. เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่มศิลปินปลดแอก 8. ชลธิชา คุ้มจันทร์อัด 9. พรพสุ ชูรอด 10. คณิติน ติเยาว์ 11. อรรคพล วันทะไชย 12. อินทราช แสงมณี

ทั้งนี้ 3 รายแรก เป็นผู้ถูกจับกุมตัวตามหมายจับของศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ซึ่งมีรายงานการออกหมายจับแกนนำจำนวนรวม 12 ราย

ขณะที่รายชื่อผู้ถูกจับกุมตัว 9 รายหลัง เป็นผู้ถูกจับกุมตัวในขณะเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมในช่วงค่ำวานนี้ โดยมีรายงานว่าประชาชนทั้ง 12 ราย ถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอยู่ในที่ดังกล่าวแล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง