ศาลอนุมัติปิดช่องทางเผยแพร่อินเทอร์เน็ต 'วอยซ์ทีวี'
2020.10.20
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวีอินเทอร์เน็ตแล้ว ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการแถลงของกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ว่า การปิดสื่อที่ละเมิดกฎหมาย หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยังไม่เกิดขึ้นทันที จำเป็นต้องรอหมายศาล
“เราจะรวบรวมหลักฐานและขอคำสั่งศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเราก็จะแจ้งไปให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศเป็นคนปิด ซึ่งที่เราทำจะปิดเป็นรายหน้า บางรายเท่านั้น... เราดำเนินการตามกฎหมาย และยึดหลักสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้สื่อทุกคน” นายภุชพงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายภุชพงค์ กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังการแถลงข่าวว่า ศาลได้มีคำสั่งอนุมัติการระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวีทุกช่องทางบนอินเทอร์เน็ตแล้ว โดยเข้าใจว่าศาลมีคำสั่งตามผิดตาม มาตรา 14 ของ พรบ.คอมพิวเตอร์ ที่ห้ามนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ และยังเข้าข่ายผิดต่อประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ในกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเหมือนเชิญชวนให้มีการชุมนุมของคนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
ด้าน สำนักข่าววอยซ์ทีวี ซึ่งนำเสนอข่าวผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ปัจจุบัน สำนักข่าวยังไม่ได้รับคำสั่งใด ๆ ให้ระงับการออกอากาศ
“ตามกระแสข่าวที่รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า วันนี้ศาลมีคำสั่งให้ปิดทุกแพลตฟอร์มในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าว Voice TV นั้น ขณะนี้บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ยังไม่ได้รับเอกสารคำสั่งศาลแต่อย่างใด วอยซ์ทีวีขอยืนยันว่าสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติ เป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำลายความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชน” นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด ระบุ ผ่านแถลงการณ์
การออกคำสั่งระงับการออกอากาศของสื่อครั้งนี้ สืบเนื่องจาก มีการชุมนุมของประชาชนและเยาวชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีการยกระดับการชุมนุม กระทั่งมีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2563 และมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเข้าสลายการชุมนุมประชาชนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และจับแกนนำการปราศรัย ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉีดน้ำผสมสารเคมี ใส่ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ที่แยกปทุมวัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ถึงปัจจุบัน มีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวแล้ว 76 คน
การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม แม้ผู้ชุมนุมส่วนมากไม่มีอาวุธ ทำให้รัฐบาลถูกประณามจากหลายภาคส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน องค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และสมาคมสื่อ อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกหนังสือ เลขที่ 4/2563 โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DES) ให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการของวอยซ์ทีวี, ประชาไท, เดอะสแตนดาร์ด และ เดอะรีพอร์ตเตอร์ รวมถึงแฟนเพจเยาวชนปลดแอก
“เนื่องจากปรากฎว่า ได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วน วอยซ์ ทีวี ประชาไท The Reporters The Standard และเยาวชนปลดแอก… ให้ กสทช. และ ดีอีเอส ดำเนินการเพื่อการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการ หรือระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ” คำสั่ง ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประชาไท, เดอะสแตนดาร์ด และเดอะรีพอร์ตเตอร์ ยังเผยแพร่เนื้อหาได้ตามปกติไม่ได้ถูกปิดกั้นแต่อย่างใด
การออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้สมาคมสื่อ รวมทั้งนักวิชาการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลยุติการกระทำดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ทำให้ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ได้สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทบทวนการออกคำสั่งที่อาจเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อแล้ว
“วันนี้ ผมได้สั่งการและมอบแนวทางให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้ตัดสินใจออกคำสั่ง โดยขอให้ตำรวจทบทวนคำสั่ง ระงับการออกอากาศ โดยขอให้พิจารณาคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ ยกเว้นกรณีที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จบิดเบือน ยุยงปลุกปั่นตลอดเวลา เฟคนิวส์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่ใช่ทางออกของปัญหา
“การปิดสื่อ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำแต่ต้นแล้ว กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ปัจจุบัน เขาก็ไม่ได้จำเป็นว่า ต้องรับสื่อเฉพาะสื่อเหล่านี้ สื่อเป็นเพียงช่องทางนึงของการรับสาร แต่รัฐบาลก็ไม่ควรทำอย่างยิ่ง” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ครม. เห็นชอบเปิดสภาวิสามัญคุยแก้ไขสถานการณ์การเมือง
ในวันอังคารนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้สภาผู้แทนราษฎร เปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาหาทางออกในการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
“มีพระบรมราชโองการว่า เปิดสมัยประชุมวิสามัญ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่า เปิดวันไหนและกี่วัน ความเห็นที่แตกต่าง มันก็ต้องนำมาสู่การพิจารณา” นายอนุชา กล่าว
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ครม. เห็นชอบตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ประจำปี 2563 โดยเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยเห็นว่า วันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 จะเป็นวันที่เร็วที่สุดที่จะสามารถประชุมสภาฯ ได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า จะกำหนดให้มีการประชุมวันใด
ขณะที่ นายฐิติพล มองว่า หากรัฐบาลยอมรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการเปิดสภาสมัยวิสามัญ
“การแก้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การเปิดสภา หรือไม่เปิด ถ้ารัฐบาลแสดงความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะยกเลิกอำนาจ ส.ว. น่าจะช่วยลดความตึงเครียดไปอย่างมาก มากกว่าการเปิดสภา ผมมองว่า การเปิดสภาเป็นเกมของรัฐบาล ในการยื้อเวลามากกว่าความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลง การที่จะไม่ยอมแก้ไขตรงนั้น ถ้ารัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า” นายฐิติพล ระบุ
กลุ่มมวลชนยังมีการชุมนุมหลายจุด เป็นวันที่เจ็ดติดต่อกัน
แม้กลุ่มคณะราษฎร-เยาวชน-มวลชนปลดแอก ได้นัดประกาศ "บิ๊กเซอร์ไพรส์" คือ ขอพักหนึ่งวัน ไม่มีการชุมนุม ในวันอังคารที่ 20 ต.ค. 2563 นี้ แต่ในช่วงเย็น ก็ยังปรากฏกลุ่มมวลชนทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมหลายจุด ในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณลานหน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค นอกทางเข้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัย ความเรียบร้อย และบางกลุ่มมีเยาวชนร่วมกันเก็บขยะด้วย และประกาศยุติการชุมนุม เวลา 20.30 น. บางแห่งได้มีการร่วมร้องเพลงและเปิดแฟลชโทรศัพท์ก่อนแยกย้าย โดยสงบเรียบร้อย
ส่วนในต่างจังหวัดก็มีการชุมนุมพร้อมกัน เช่น จังหวัดตรัง จังหวัดลำพูน และจังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่มีนักเรียน นักศึกษา จากโรงเรียนมัธยมในพื้นที่กาญจนบุรี และประชาชน ใช้ชื่อ “กาญจน์ปลดแอก” กว่าพันคนมาร่วมชุมนุมและปราศรัย ทุกกลุ่มได้ร่วมกดดันไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออก พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วมที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาการร่วมชุมนุมทางการเมือง และพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น