ชาวมุสลิมเริ่มถือศีลอด ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด

มารียัม อัฮหมัด
2020.04.24
ปัตตานี
200424-TH-ramadan-girl-1000.jpg ด.ญ. อาฟีซะ ยูโซะ (ชุดคลุมส้ม) ขณะอ่านอัลกุรอานกับเพื่อน ๆ ที่บ้านในเจาะกลาดี จังหวัดยะลา ในระหว่างถือศีลอดในวันแรก วันที่ 24 เมษายน 2563
เบนาร์นิวส์

ชาวมุสลิมทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในสามชายแดนใต้ ได้เริ่มปอซอ หรือการถือศีลอด ในวันศุกร์นี้ ท่ามกลางข้อกำหนดของทางการ และสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ให้ศาสนิกงดกิจกรรมต่างๆ ที่มัสยิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนในประเทศไทยแล้ว 50 ราย

นางตอฮีเราะ ฮีเลอีซอ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเองมีความรู้สึกไม่ค่อยดี ที่ในปีนี้ไม่สามารถไปประกอบกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิดในเดือนแห่งการถือศีลอดที่ดำเนินไป 30 วัน

“ฉันก็รู้สึกไม่ค่อยดี ที่ต้องหยุดไปมัสยิดในเดือนรอมฎอน ผู้ชายหยุดละหมาดวันศุกร์ แต่ก็ต้องทำตามกติกา เพราะเราอยู่กันจำนวนมาก ต้องมีกติกาและทุกคนก็ต้องทำตาม อยากให้ทุกคนสู้ ๆ เพื่อระงับเชื้อช่วงรอมฎอน ขอให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นต่อบททดสอบนี้ไปได้” นางตอฮีเราะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 หรือ ปี พ.ศ. 2563 โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น หนึ่ง การอนุญาตกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปาก เพื่อเลี่ยงการถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด สอง ให้งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหะสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ แต่หากมีความประสงค์จะจัดเลี้ยง ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้าน แล้วจัดใส่ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ นำไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทน สาม กรณีสมาชิกในครอบครัวละศีลอด แล้วรับประทานอาหารด้วยกัน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร และ สี่ ให้งดการเอี๊ยะติก๊าฟ หรือการไปอ่านอัลกุรอานที่มัสยิดตลอด 10 คืนสุดท้ายของรอมฎอน หรือกิจกรรมการละหมาดรวมกันที่มัสยิดในยามค่ำคืน เช่น ละหมาดตะรอเวียะห์ ตลอดถึงกิจกรรมการรวมตัวอื่นๆ ที่มัสยิดหรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

ทั้งนี้ ในยามปกติ ในการถือศีลอด หมายถึงในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก มุสลิมจะไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ (บางคนที่เคร่งครัดมากๆ จะไม่กลืนน้ำลายของตัวเองด้วย) นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนา ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก หลายพิธีกรรม แต่ในปีนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้

“วันไหนที่โรคระบาดหายปกติ เราค่อยกลับมาใช้ชีวิตปกติ ตอนนี้ โรคกำลังระบาด อะไรที่ทำให้เราสามารถระวังไม่ไปติดเชื้อก็ควรทำ อิสลามสอนให้ระวังดีกว่ารักษา” น.ส.มารีแย อาแด แม่ค้าขายของสดด้วยโชว์เลย์ (มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อหาอาหารที่ตลาดสด อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเตรียมละศีลอดในช่วงตะวันตกดิน วันที่ 24 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)
ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อหาอาหารที่ตลาดสด อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเตรียมละศีลอดในช่วงตะวันตกดิน วันที่ 24 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)

ทางการยังอนุญาตให้เปิดตลาด แต่ต้องมีจุดคัดกรอง

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการปัตตานี กล่าวว่า ได้อนุญาตให้ชาวบ้านเปิดตลาดสด เเละตลาดนัดเดือนรอมฎอน ตามที่เคยมีอยู่เดิม แต่เพิ่มเงื่อนไข เช่น ต้องตั้งจุดคัดกรองหน้าตลาด ห้ามผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือคนที่มีโรคประจำตัวเข้าตลาด รวมถึงจัดระเบียบพ่อค้าเเม่ค้าให้ตั้งร้านห่างกัน 1 เมตร หากร้านไหนขายดี ต้องจัดระเบียบการต่อคิวซื้อ โดยต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร

ด้านนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ออกมาตรการว่าด้วยการให้จำหน่ายอาหารในเดือนรอมฎอน จำนวน 6 ข้อ คือ 1. ให้ผู้ขายสามารถจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มได้เฉพาะหน้าร้านของตัวเอง 2. ห้ามใช้บาทวิถีจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มในลักษณะหาบเร่ แผงลอยโดยเด็ดขาด 3. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดสถานที่จำหน่าย จัดระเบียบให้ผู้ขายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยให้แต่ละผู้ขายเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร และจัดการลงทะเบียนผู้ขาย 4. สามารถจำหน่ายได้เฉพาะอาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องดื่มเท่านั้น (ห้ามขายสินค้าประเภทอื่น ๆ) 5. สำหรับสถานที่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ให้จำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น. และ 6. ขอความร่วมมือแต่ละครอบครัวในการออกไปซื้ออาหารไม่เกินครอบครัวละ 2 คน และห้ามมิให้นำบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ออกไปซื้อหาอาหาร

ส่วนนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ได้ย้ำให้ศาสนิกถือปฏิบัติตามประกาศของจุฬาราชมนตรีอย่างจริงจัง ส่วนด้านสังคม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตลาดกลางประจำตำบล 1 แห่ง การจัดระเบียบใหม่การขายอาหาร โดยจะต้องมีระยะห่างจากร้านไม่น้อยกว่า 1 เมตร จัดระเบียบผู้ซื้อและผู้ขาย ในเวลาเดียวไม่ควรเกิน 3 คน และมีระยะห่างรอการตรวจสุขภาพทุกครั้ง พร้อมทั้งให้จัดเตรียมเจลล้างมือไว้ด้วย

ประชาชนในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เดินผ่านหน้ามัสยิดนูรุล อิหซาน ที่มีเพียงผู้ดูแลมัสยิดทำการละหมาด เพื่อรักษาความเป็นมัสยิดเท่านั้น วันที่ 24 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)
ประชาชนในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เดินผ่านหน้ามัสยิดนูรุล อิหซาน ที่มีเพียงผู้ดูแลมัสยิดทำการละหมาด เพื่อรักษาความเป็นมัสยิดเท่านั้น วันที่ 24 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)

สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดชายแดนใต้ ส่งหนังสือถึงสำนักจุฬาฯ ขอผ่อนปรนละหมาดญุมอะฮ์

หลังจากที่สำนักงานจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศมาตรการต้านโควิด พี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร้องขอให้สํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด ประสานงานกับจุฬาราชมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอผ่อนผันคําสั่งจุฬาราชมนตรี เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด โดยระบุว่า ให้อนุญาตให้กับมัสยิดที่ไม่อยู่ในพื้นที่ที่ทางการสั่งปิดหมู่บ้าน โดยทางมัสยิดจะรักษาสุขอนามัยให้เรียบร้อย เช่น การห้ามผู้ป่วยร่วมพิธีกรรม การเตรียมเจลฆ่าเชื้อโรค การวางระยะห่างระหว่างบุคคล การเลี่ยงการสลามด้วยการสัมผัสมือ และการสวมกอดโดยให้ใช้การยกมือแทน เป็นต้น

ในเรื่องนี้ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการ สำนักจุฬาราชมนตรี และอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ต้องให้ทางจังหวัดพิจารณา

“ทางสำนักจุฬาฯ ไม่สามารถตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะดำเนินการส่งข้อเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณา เนื่องจากทราบมาว่า ทางสมาพันธิ์ได้ยื่นมาที่สำนักจุฬาฯ แต่ไม่ได้มีการยื่นถึงจังหวัดให้พิจารณา” นายซากีย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในก่อนหน้านี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้มีฟัตวาว่า การงดการละหมาดวันศุกร์ในสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ถือว่าผิดหลักศาสนา แต่อย่างใด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง