สาธารณสุขหวังเพิ่มอัตราการเกิด สร้างแรงงานในอนาคต
2017.02.14
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (14 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน อัตราการเกิดของประเทศไทยต่ำจนอาจมีผลต่อจำนวนประชากรวัยทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดยุทธศาสตร์ปี 2560-2569 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีบุตรมากขึ้น
ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ประการ ดังนี้ 1. ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน 2. พัฒนาคุณภาพการบริการสาธารณสุข 3. สร้างนโยบายสาธารณสุขที่เหมาะสม และ 4. พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข
“เรื่องที่เราทำ คือการเชิญชวนและให้สิทธิต่างๆ แต่ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนต้องมีการฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ การลดหย่อนภาษีได้มีการปรับแล้ว จากปกติหากมีบุตรสามารถหักภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี และหักได้ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็น 3 หมื่นต่อคนต่อปี และไม่จำกัดจำนวน มาตรการเรื่องเงินชดเชย ซึ่งจ่ายให้กับคนรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยให้ครอบครัวที่มีบุตร 600 บาทต่อเดือน” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากร 65.7 ล้านคน เป็นประชากรที่มีงานทำ 37.3 ล้านคน มีอัตราการเกิด 6.7-6.8 แสนคนต่อปี ซึ่งถือว่าลดลงจากเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วมาก โดยปี 2513 ประเทศไทยมีอัตราการเกิด 1.3 ล้านคนต่อปี อัตราการเกิดปัจจุบันหากเทียบกับอัตราการเสียชีวิต 4 แสนคนต่อปีแล้ว ทำให้ค่าเฉลี่ยการเพิ่มของประชากรไทยตกเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี และมีแนวโน้มว่า ค่าเฉลี่ยการเพิ่มประชากรอาจลดเหลือร้อยละ 0 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อจำนวนคนในวัยทำงาน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงใช้โครงการ “ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติด้วยวิตามินแสนวิเศษ” เป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงไทย และเตรียมความสมบูรณ์ให้กับผู้ที่ต้องการมีบุตร เพราะปัจจุบัน ร้อยละ 22 ของผู้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) 18 ล้านคนทั่วประเทศมีปัญหาโลหิตจาง วิตามินแสนพิเศษนี้ มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก และโฟเลต ซึ่งช่วยบำรุงให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีความแข็งแรง ลดอัตราการพิการของบุตรในครรภ์ได้ ซึ่งกรมอนามัยตั้งเป้าจะให้โครงการนี้เข้าถึงผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อย่างน้อย 11 ล้านคน
“มีคนบอกว่าโครงการเราส่งเสริมให้ท้องในวัยรุ่นหรือเปล่า ในจำนวนเด็กที่เกิดแต่ละปี 6.7-6.8 แสนคน มีถึง 1 แสนกว่าคนที่เกิดจากแม่วัยรุ่น เราตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี เราจะลดเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงครึ่งนึง เนื่องจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะมีปัญหาตามมาคือ คลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อย การลดปริมาณตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ก็จะช่วยให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเรามีการวางแผนแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่เช่นเดียวกัน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาและทดลองใช้โดยความสมัครใจตามบริษัทและสถานประกอบการต่างๆ คือ การให้ผู้ชายสามารถลาหยุดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงบุตรในช่วงหลังการคลอดได้ การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก และมุมนมแม่ในที่ทำงาน เพื่อลดภาระการลาของผู้หญิงที่ทำงานประจำ เป็นต้น ซึ่งนโยบายต่างๆ นี้ จะได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากนักวิชาการ และผู้ประกอบการ เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดการใช้จริงตามความเหมาะสมของบริบทสังคมไทยต่อไปอนาคต
คนแต่งงานแล้วในยุคปัจจุบันคิดเห็นอย่างไร เรื่องการมีบุตร
นายพุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู นักวิชาการภาพยนตร์ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตนแต่งงานมาแล้ว 2 ปี ต้องการจะมีบุตร แต่ด้วยปัจจัยด้านเวลา และเศรษฐกิจทำให้ ยังไม่ตั้งใจที่จะมีบุตรในเวลานี้
“ที่ยังไม่มีเพราะรู้สึกว่าต้องใช้เงินเยอะ ตอนนี้เงินเก็บยังมีไม่มากพอ แล้วก็ไม่ค่อยมีเวลาว่าง เลยคิดว่ายังไม่พร้อมสำหรับการมีตอนนี้ แต่บางทีก็เคยคิดว่าไม่อยากมี เพราะเห็นตัวอย่างคนอื่นๆ ที่ไม่มีลูก แล้วก็รู้สึกชีวิตสบายดี อิสระ มีเงินเก็บท่องเที่ยวต่างประเทศได้ทุกปี ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง” นายพุทธพงษ์กล่าว
นายพุทธพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการมีบุตรที่ดีพอ เช่น จ่ายเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรในปริมาณที่เหมาะสม หรือเพิ่มอัตราการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่มีบุตรอาจเป็นแรงจูงใจให้ครอบครัวของตนเองวางแผนที่จะมีบุตรได้
น.ส.กรองกรานต์ โกยอนรรฆกุล นักธุรกิจด้านตกแต่งภายใน เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ไม่คิดอยากจะมีบุตร เนื่องจากต้องการความเป็นอิสระ และมีความเชื่อว่า สภาพสังคมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้แก่การมีบุตร
“อยากอิสระ กว่าเด็กจะโต ต้องห่วงหน้าพะวงหน้าพะวงหลัง อยากไปไหนก็ไม่สะดวก เดี๋ยวนี้สังคมดูรุนแรง กลัวเลี้ยงไม่ดี ไม่รู้เด็กจะโตมาแบบไหน สวัสดิการเรื่องเรียนในเมืองไทยยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยเลือกที่จะไม่มีดีกว่า” น.ส.กรองกรานต์กล่าว
น.ส.กรองกรานต์เพิ่มเติมว่า แม้รัฐบาลจะมีการเพิ่มอัตราลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีบุตร หรือนโยบายส่งเสริมอื่นๆ ก็ไม่สามารถจูงใจให้ครอบครัวของตนเองวางแผนที่จะมีบุตรได้ เนื่องจากไม่มีความต้องการจะมีบุตรอยู่แล้ว