ศูนย์ทนายฯ ร้องทหารปล่อยวรรณนภา กรณีเสื้อต้องห้าม
2018.09.10
กรุงเทพฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัว นางวรรณนภา (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกควบคุมตัวจากการครอบครองเสื้อยืดซึ่งมีธงบนอกด้านซ้าย คล้ายกับสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอันเป็นภัยกับความมั่นคง
นางวรรณนภา อาชีพขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ถูกทหารคุมตัวจากบ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ไปควบคุมไว้ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 และปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว หรือแจ้งข้อกล่าวหา โดยขณะเข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ทหารได้ถามหาเสื้อยืดสีดำที่มีสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีขาวคาดแดง ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เคลื่อนไหวกระทบต่อความมั่นคง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น สัญลักษณ์บนเสื้อยืดดังกล่าว คล้ายกับสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท
น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ปัจจุบัน ศูนย์ทนายฯ ยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือทางกฎหมายกับนางวรรณนภาได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบ ซึ่งศูนย์ทนายฯ เชื่อว่าการคุมตัวครั้งนี้เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลจึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางวรรณนภา
“ศูนย์ทนายฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัว และเรียกร้องให้ใช้กฎหมายปกติมาตลอด เมื่อวานนี้ กรรมการสิทธิประสานบอกว่า จะพาลูก 2 คน ของวรรณนภาไปเยี่ยมแม่ ทนายไปด้วย แต่ทหารอนุญาตเฉพาะกรรมการสิทธิฯ และลูก แต่เขาไม่อนุญาตทนายความ ทหารบอกให้เตรียมเรื่องการประกันตัว ควบคุมในชั้นคำสั่ง คสช. แล้วจะมีการดำเนินคดีต่อ ขั้นต่อไปจะส่งไปที่กองปราบ ตำรวจจะนำไปฝากขังที่ศาล ต้องรอให้เขาเอามาที่ตำรวจ ทนายถึงจะช่วยเหลือทางกฎหมายได้” น.ส.ภาวิณีกล่าว
“เจ้าหน้าที่ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา แต่คิดว่าจะเป็น 116 ตอนที่มาแจ้งข้อกล่าวหา จะได้ทราบว่าเขาดำเนินคดี อะไรบ้าง ลูกเขาบอกว่า แม่ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่เคยไปชุมนุม เราไม่รู้ว่าทหารเอาตัวไปเพราะอะไร แต่มีทหารมาถามหาเสื้อตอนที่มาจับที่บ้าน” น.ส.ภาวิณีระบุ
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ทนายฯ ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีใจความโดยสรุปดังนี้ 1. การควบคุมตัวโดยไม่มีคำสั่งศาลลักษณะเดียวกับนางวรรณนภา เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในปี 2557 ซึ่งทำให้บุคคลที่ถูกคุมตัวขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ 2. สหประชาชาติ ทำรายงานสรุปในปี 2560 ระบุว่า รัฐไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และควรเยียวยาผู้ถูกคุมตัวอย่างเต็มที่
จากข้อมูลของ ศูนย์ทนายฯ มีประชาชนที่ถูกควบคุมตัวจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับเสื้อยืดดังกล่าว 2 ราย โดยนอกจากนางวรรณนภา มีอีกรายหนึ่งชื่อนางสุรางคณาง (สงวนนามสกุล) อาชีพช่างเสริมสวย ถูกควบคุมตัวจากบ้านพักย่านประเวศ ในช่วงเช้าวันที่ 6 กันยายน 2561 โดยทหารในเครื่องแบบและชายในชุดสีดำรวมกว่า 10 คน ทั้งยังได้ยึดเอาเสื้อยืดสีดำลายขาวคาดแดง และโทรศัพท์มือถือไปยัง มทบ. 11 ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกัน
ทีมโฆษก คสช. แจงความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหว
ต่อกรณีเดียวกัน พล.ต.ปิยะพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ชี้แจงกับเบนาร์นิวส์ว่า การคุมตัวนางวรรณนภา ครั้งนี้ เนื่องจากพบหลักฐานว่านางวรรณนภา ครอบครองเสื้อซึ่งอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่กระทบต่อความมั่นคง
“การเชิญตัวมาควบคุม สืบเนื่องจากการตรวจพบว่า มีการเกี่ยวข้องกับงานที่อาจกระทบต่อความมั่นคง โดยมีการพบเอกสาร หลักฐาน สัญลักษณ์ การติดต่อเชื่อมโยงกับเครือข่าย ขณะนี้กำลังขยายผลตรวจสอบรายละเอียด จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” พล.ต.ปิยะพงศ์กล่าว
เมื่อสอบถามว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวกี่ราย และถูกควบคุมตัวทั้งหมดกี่คน พล.ต.ปิยะพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการควบคุมไว้เพียงรายเดียว และยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดความเชื่อมโยงอื่นๆ
“ความเชื่อมโยงกับกลุ่มขอสงวนไว้ แต่ที่ชัดเจนมี (คุมตัว) รายเดียว สำนักสิทธิมนุษยชนได้นำเข้าเยี่ยมเมื่อวานนี้ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้อธิบายถึงเหตุผลและสิ่งที่ตรวจพบ ก็เข้าใจเป็นอย่างดี การดำเนินงานของรัฐบาลของ คสช. ยังยืนยันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อะไรที่อาจส่งผลกระทบความไม่เรียบร้อย จะไม่ปล่อย อยู่ในการดูแลเป็นอย่างดี ตรวจสุขภาพอนามัย การให้ที่พักอาศัย” พล.ต.ปิยะพงศ์กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า วานนี้ ได้พาบุตร 2 คนของนางวรรณนภา ไปเยี่ยมนางวรรณนภาที่อยู่ในห้องรับรอง มทบ. 11 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ระบุว่า จะทำการส่งตัวนางวรรณนภาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการของ คสช. ซึ่งเชื่อว่าไม่เกินวันที่ 12 กันยายน 2561
“สิ่งที่กรรมการสิทธิฯ เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่คือ เรื่องสิทธิของบุคคล ต้องเป็นไปตามกฎหมายของผู้ถูกคุมตัว ในการพบญาติ ต้องมียืนยัน ต้องให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ต้องดูในเรื่องว่า หลังจากนั้น คสช. จะไม่มีสิทธิควบคุมตัวอีก ต้องยืนยันว่าต้องเข้าสู่กระบวนกฎหมายปกติ เป็นสิทธิของเขาที่จะให้ประกันตัว ซึ่ง คสช. ยืนยันว่า เมื่อส่งตัววรรณนภาให้ตำรวจจะไม่คัดค้านการประกันตัว ขอให้เตรียมหลักทรัพย์การประกันตัว” นางอังคณากล่าว
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามี ผู้ถูกเรียกไปรายงานตัว หรือเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,318 คน มีผู้ถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 597 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ของกฎหมายอาญา อย่างน้อย 94 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ของกฎหมายอาญา อย่างน้อย 91 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยเป็นสถิติถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการรายงานฉบับนี้