ศาลยกฟ้องคดี ม.112 ต่อนายสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นเชียงราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.03.31
กรุงเทพฯ
200331-TH-royal-defamation-650.jpg นายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 ถ่ายรูปคู่กับทนาย ในการฟังการสืบพยานโจทก์ วันที่ 15 มิถุนายน 2560
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวันอังคารนี้ ศาลจังหวัดเชียงราย ได้พิพากษายกฟ้องคดีนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นอายุ 35 ปี จำเลยในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นเบื้องสูง) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากต่อสู้คดีมานานกว่าสามปี เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

เวบไชต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดำเนินคดี เมื่อเดือนกรกฏาคม 2559 โดยกล่าวหาว่านายสราวุทธิ์ เป็นผู้นำเข้าภาพและข้อความที่อาจเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) และได้มีการดำเนินการพิจารณาคดีในศาลทหารก่อนที่จะโอนคดีมายังศาลพลเรือนในภายหลัง

นายพนม บุตะเขียว ทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวเบนาร์นิวส์ว่า ซึ่งในการพิจารณาคดีในวันนี้ จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ขณะที่ฝ่ายอัยการไม่ได้มาฟังคำพิพาษา

“ในทางกฎหมาย เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิด โดยการเขียนข้อความและรูปลงบนเฟซบุ๊ก โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้สิ้นข้อสงสัย แต่จากการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ไม่มีพยานโจทก์ที่ยืนยันว่าจำเลยโพสต์ภาพกับข้อความตามที่ถูกฟ้องมาจริง จากการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกของจำเลยที่ถูกยึดก็ไม่พบภาพที่ถูกกล่าวหา และคนที่เห็นโพสต์ ก็ไม่ถูกเบิกความต่อศาล ทำให้พยานหลักฐานมีข้อสงสัย” นายพนม กล่าว

“ข้อต่อสู้ของเราคือ จำเลยไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความและภาพดังกล่าว ซึ่งมีพยานที่เป็นคนกลาง คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ มาเบิกความเรื่องการปลอมแปลงหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกว่าสามารถทำได้ เช่นการปลอมแปลงยูอาร์แอล ศาลก็รับฟังว่ามันอาจจะมีการปลอมแปลงได้โดยง่าย ก็เลยมีเหตุสงสัย จึงพิพากษายกฟ้อง ยกประโยชน์ให้จำเลย” นายพนม กล่าวเพิ่มเติม

นายพนม ระบุว่า ฝ่ายจำเลยจะไม่อุทธรณ์ แต่ต้องรอว่าฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งหากอุทธรณ์ต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 30 วัน หรือทำเรื่องขอขยายเวลาอุทธรณ์

ทั้งนี้ เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อไปยังศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ศาล ระบุว่า การขอข้อมูลต้องเดินทางไปยื่นเรื่องด้วยตัวเองที่ศาลจังหวัดเชียงราย จึงไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากศาล

นายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี เป็นเจ้าของกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นสายตา ในจังหวัดเชียงราย ในอดีตเคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวใด และภายหลังได้เคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ต เขาตกเป็นจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (3) จากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเขียนข้อความ และโพสต์รูปภาพ เกี่ยวกับการแต่งกายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ลงบนเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 จากการแจ้งความโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว ของมณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช คดีนี้เคยถูกพิจารณาทั้งในศาลทหาร และศาลพลเรือนเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และในชั้นสอบสวน จำเลยเคยถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 38 วัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ก่อนฟังคำพิพากษาวันนี้ นายสราวุทธิ์ รู้สึกกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจัดการกับการแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้เขาคิดว่า คดีของตนอาจตกเป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นถึงการพยายามจัดการควบคุม กับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้กระทำตามฟ้องก็ตาม แต่หลังจากได้ฟังคำพิพากษาแล้วก็รู้สึกดีใจ เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

สำหรับคดีหมิ่นเบื้องสูง หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศูนย์ทนายความให้ข้อมูลว่า คดีเกิดขึ้นในระหว่างปี 2557-2560 โดยมีผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วย ม.112 ถึง 94 ราย แต่มีเพียง 15 รายเท่านั้น ที่ได้รับการประกันตัว และต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป และในปี 2561 มีอย่างน้อย 7 คดี ที่ได้รับการตัดสินยกฟ้อง ส่วนในปี 2562 มีผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำอย่างน้อย 25 คน จากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง