รัฐบาลอัดฉีดเงินหลายหมื่นล้านแก้ปัญหาราคายางปี 2561
2017.12.20
ปัตตานี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยในวันพุธ (20 ธันวาคม พ.ศ. 2560) นี้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในการดำเนินโครงการประกอบด้วย 7 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลตั้งแผนงบประมาณสนับสนุนหลายหมื่นล้านบาท และหวังให้ราคายางอยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการ 7 ประการ ที่รวมถึงการดึงยางพาราออกจากระบบโดยองค์กรของรัฐ และบริษัทรับซื้อยางพารา
“มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง หรือยางแห้ง วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท เป้าหมายเพื่อดูดซับน้ำยาง 3.5 แสนตัน" นายณัฐพร กล่าว
สำหรับรายละเอียดโครงการทั้งหมดมีดังนี้ หนึ่ง โครงการสนับสนุนเงินหมุนเวียนแก่สถาบันการเกษตรต่างๆ 10,000 ล้านบาท เพื่อการรวบรวมยางพาราจากเกษตรกร โดยมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน 0.36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี สอง โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน 20,000 ล้านบาท ให้ผู้รับซื้อยางเพื่อดูดซับยางพารา 350,000 ตัน ออกจากตลาด ในห้วงปี 2561 โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี สาม การสนับสนุนให้ 7 กระทรวง ซื้อยางพารานำมาใช้ 200,000 ตัน มูลค่า 12,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางสำรองจ่าย
สี่ โครงการควบคุมผลผลิต โดยจะลดพื้นที่ปลูกชั่วคราว 200,000 ไร่ ลดพื้นที่ปลูกถาวร 200,000 ไร่ และลดปริมาณสวนยางที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐกว่าหนึ่งแสนไร่ ห้า โครงการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกันโดยการยางพาราแห่งประเทศไทยและผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 บริษัท ซึ่งจะมีการหารือเพิ่มเติมต่อไป
โครงการที่หก เป็นโครงการเดิมที่มีการทบทวน คือ โครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ในการขยายหรือปรับปรุงการผลิต รัฐบาลเคยอนุมัติวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาท แต่มีผู้ขอรับสินเชื่อไม่ครบ จึงขยายโครงการไปถึงเดือนมิถุนายน ศกหน้า และโครงการที่เจ็ด รัฐบาลอนุมัติการสนันสนุนสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ในอัตรา 0.49 เปอร์เซ็นต์ต่อไป
นางอูแมกลือซง อาแซ เกษตรชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า ราคายางในพื้นที่กิโลกรัมละ 35-38 บาท ส่วนเศษยางกิโลกรัมละ 16-18 บาท เท่านั้น ตนเองไม่มีรายได้เพียงพอ จึงโดนไฟแนนซ์ยึดรถที่เช่าซื้อไป ส่วนตนเองนั้น ไม่มีความมั่นใจในโครงการ
“เป็นนโยบายเดิมๆ แค่เอามาปรับให้ดูดีขึ้น สุดท้ายเราชาวสวนก็เดือดร้อนเหมือนเดิม หลายนโยบายดี ดูแล้วสามารถช่วยเหลือชาวสวนยางได้พอสมควร แต่ไม่เคยมาถึงชาวสวนยาง และที่สำคัญ ไม่เคยลงมือทำอย่างจริงจัง อยากเรียกร้องให้ทำให้จริงบ้างสักเรื่อง ทำให้ถึงชาวสวนยางระดับล่างอย่างพวกเราบ้างจริงๆ เถอะ ถ้าทำได้จะกราบให้เลย” นายอูแมกลือซง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดยะลา โดยการหาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เข้ากับสภาวะแวดล้อมภูมิอากาศและดินของจังหวัดยะลา อีกทั้งเป็นพืชที่มีอนาคตและเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก เช่น การปลูก กาแฟโรบัสต้า เป็นสายพันธุ์กาแฟที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
"สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวยะลาปลูกแซมในสวนยางพาราได้ในระยะแรก ปัจจุบันราคาจำหน่ายประมาณกิโลกรัมละ 110 บาท จะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการเกษตรของยะลาได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่กรมวิชาการเกษตรจะฝึกอบรมเทคโนโลยีการผลิตกาแฟโรบัสต้า ให้แก่เกษตรกรชาวยะลา เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดยะลาให้ดีขึ้นในอนาคตต่อไป" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว