มติ ครม. ตกลงซื้อยางพาราล็อตใหม่ กับเกษตรกรโดยตรง 100,000 ตัน
2016.01.12

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ในวันอังคาร ที่ 12 มกราคม 2559 นี้ว่า ที่ประชุมมีมติที่รับชื้อยางกับเกษตรกรโดยตรง 100,000 ตัน ในราคาที่สูงกว่าตลาด ที่ราคายางแผ่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในช่วง 3 เดือน ก่อนปิดการกรีดยาง
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทย มีปริมาณยางทั้งหมด 4.7 ล้านตัน แต่ใช้ยางเพียง 1.4 ล้านตัน ดังนั้น จากนี้จะต้องเพิ่มการใช้ยางมากกว่า 30-50% โดยจะเร่งสร้างโรงงานให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งที่นอนทหาร ถุงมือยาง แต่ไม่สามารถ เพิ่มปริมาณยาง ในการทำถนนเกิน 5% ได้ เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลื้องงบประมาณ ต้องปรับงบประมาณภายในมากกว่าการมาขอเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้
“วันนี้ก็ต้องไปดูว่าภาครัฐจะสามารถซื้อแผ่นยาง น้ำยาง ไปเข้าสู่กระบวนการผลิตควรจะซื้อในราคาที่เท่าไร ต้องเห็นใจรัฐด้วย ถ้าเราไปเพิ่มราคาโดยที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย ซื้อเอามาเก็บเข้าคลัง คิดว่าจะเหมือนเดิม” พลเอกประยุทธ์กล่าว
“เมื่อแนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการนั้นเกิดขึ้น ยางก็จะใช้มากขึ้น คราวหน้าก็เอายางในคลังมาให้เขาต่อ คิดแบบนี้เป็นหรือไม่ และที่ซื้อแสนตันครั้งนี้เป็นยางใหม่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ซื้อจากสหกรณ์ ส่วนราคาที่จะซื้อยังไม่รู้ เดี๋ยวเขาไปคุยกันต่อ” พลเอกประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติม
ในวันนี้ นายนิพจน์ คงจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพารา ยะลา กล่าวว่า “ตลาดกลางยางพารา ยะลา พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ อยู่ที่ทางรัฐบาลที่จะสั่งการลงมา ปริมาณยางที่เข้ามาตลาดลดน้อยลง จากเดิมวันละมากกว่า 10 ตัน แต่หลังจากที่ราคายางลดต่ำลง เฉลี่ยวันละประมาณ 3 ตัน เพราะเกษตรการรายใหญ่ถือโอกาสหยุดกรีดยาง เพื่อบำรุงรักษาต้นยาง มีเกษตรกรชาวสวนยางบางรายตัดสินใจโค่นต้นยาง หันไปปลูกพืชไร่แทน”
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 8 คน จากทั้งหมด 15 คน เพราะยังติดปัญหาของตัวแทนบางกลุ่ม ในส่วนที่เหลือจะพิจารณาภายหลัง สำหรับรายชื่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการ 2. นายประสิทธิ์ หมีดเส็น ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 3. นายสังข์เวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 4. นายเสนี จิตตเกษม ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 5. ธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 6. นายสาย อิ่นคำ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 7. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้า 8. นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสากหรรมยาง
หลังทราบข่าวนโยบายที่นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งมา ชาวสวนยางทุกคนในบางพื้นที่ เริ่มมีความหวังมาก บางคน ออกมารวมตัว ที่ร้านน้ำชา หารือ กรณีนโยบายของนายกรัฐมนตรี บางกลุ่ม คุยกันในตลาด กลุ่มผู้หญิงตามหมู่บ้านก็ตั้งวง คุยกันถึงกรณีนี้เหมือนกัน ทุกวงพูดคุยเป็นการพูดคุยเชิงมีความหวัง
นายอับดุลรอซะ เจะมุ ชาวสวนยางจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ดีใจมาก ถ้าทุกหน่วยงานสามารถทำตามนโยบายที่เป็นข่าว มั่นใจว่า ถ้ารัฐบาลมีการส่งเสริมให้เราผลิตเองใช้เอง ผลผลิตของเราจะมีคุณค่ามากกว่าราคาอีก
“อยากให้ทุกคนมีความจริงจังแก้ปัญหาและส่งเสริมการใช้ยางพาราในการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายที่เป็นข่าว ล้วนเป็นเรื่องดีทั้งสองฝ่าย ทั้งชาวสวนยาง และประเทศ” นายอับดุลรอซะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางบางกลุ่ม ที่ยังไม่ไว้วางใจถึงความสัมฤทธิ์ผลในมาตรการของรัฐบาลในวันนี้ ที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหา และว่า อาจจะมีการพิจารณาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ในอีก 15 วัน หากราคายังไม่เป็นที่น่าพอใจ