มูลนิธิกระจกเงาเผยความรุนแรงในครอบครัว สาเหตุหลักให้เด็กหนีออกจากบ้าน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.09
กรุงเทพฯ
TH-missing-children-800 หญิงยืนข้างภาพลูกชายของเธอที่หายตัวไปเมื่อ 15 ปีก่อน ขณะมีอายุเจ็ดปี ส่วนหนึ่งของการรณรงค์ค้นหาเด็กหาย ของมูลนิธิกระจกเงา โดยติดภาพบนรถประจำทาง แถวเมเจอร์รัชโยธิน กรุงเทพฯ ภาพวันที่ 15 ธันวาคม 2558
เอเอฟพี/บางกอกโพสต์

ปรับปรุงข้อมูล 4:00 pm ET 2017-02-10

ในวันพฤหัสบดี (9 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่ามีเด็กอายุระหว่าง 3–18 ปี หาย 434 ราย โดย 86 เปอร์เซนต์ ในจำนวนนี้ เป็นการออกจากบ้านโดยสมัครใจ หรือหนีออกจากบ้าน ซึ่งสาเหตุหลักของการหนีออกจากบ้านนั้นเกิดจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สาเหตุคนหายที่เปิดเผยครั้งนี้ เป็นการประเมินจากการรับแจ้งคนหายของมูลนิธิกระจกเงา โดยประเมินจากข้อมูลแรกที่มูลนิธิได้รับจากครอบครัวของเด็ก และข้อมูลจากตัวเด็กเองเมื่อสามารถตามตัวพบ

“ข้อมูลเด็กหนีออกจากบ้าน เป็นข้อมูลที่เรารับแจ้งเหตุโดยตรงจากครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถ้าพูดชัดๆ มีลักษณะของการทำร้าย ทุบตี ด่าทอ การไม่ได้ใช้เหตุผลในการเลี้ยงดู เช่น บางคนเห็นเด็กติดโทรศัพท์มากๆ ก็ยึดโทรศัพท์เด็ก ก็เลยทำให้เกิดจุดแตกหัก ทำให้เด็กไม่อยากที่จะอยู่บ้าน” นายเอกลักษณ์กล่าว

ปี 2559 มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้งว่ามีเด็ก (อายุ 3-18 ปี) หายไป 434 คน สมัครใจออกจากบ้านเอง 371 คน ถูกลักพาตัว 6 คน พลัดหลง 5 คน ประสบอุบัติเหตุ 6 คน และสาเหตุอื่น (เช่น ขาดการติดต่อ แย่งความเป็นผู้ปกครอง เป็นต้น) มี 46 คน และข้อมูลจากศูนย์คนหาย เฉพาะ ปี 2559 ภายหลังพบตัวทั้งสิ้น 384 ราย

โดยในปี 2558 มีการรับแจ้งจำนวนเด็กหายมากกว่าถึง 592 คน นับว่าปี 2559 มีจำนวนเด็กหายลดลงจากปีก่อนหน้า ถึง 158 คน น่าจะคำนวณได้ว่า ผู้ปกครองมีความตระหนักมากขึ้น

สำหรับปี 2560 สถิติเฉพาะถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ รับแจ้งเด็กหายแล้ว 40 คน ในนั้นเป็นเด็กหนีออกจากบ้านเอง 35 คน

“เด็กอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมเช่น พ่อแม่แยกทางกัน เด็กอยู่ในบ้านที่มีพ่อเลี้ยงซึ่งมีลักษณะของความไม่ปลอดภัย ลักษณะตัวเองเป็นส่วนเกิน ประกอบกับเป็นวัยที่เด็กมีสังคมเพื่อน สนิทกับเพื่อนมากกว่าคนในครอบครัว เลยเป็นจุดหักเหที่ออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน หรือเป็นวัยที่เด็กใช้อินเตอร์เน็ตและติดอยู่ในโลกเสมือนจริง ซึ่งเป็นโลกออนไลน์” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายกล่าว

มูลนิธิกระจกเงาเผยว่า เด็กที่หนีออกจากบ้านมีเด็กหญิง 278 คน เด็กชาย 93 คน พบว่า เด็กหญิงหนีออกจากบ้านมากกว่าเด็กชาย 3 เท่า เนื่องจากเด็กหญิงมีประชากรมากกว่า และมีแนวโน้มว่าจะถูกชักจูงจากเพื่อนง่ายกว่า โดยเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านทั้งหญิงและชาย มีแนวโน้มว่าจะหนีไปอยู่กับคนรัก หรือเพื่อน และมีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน

นายเอกลักษณ์ เปิดเผยอีกว่า กระบวนการช่วยเหลือของมูลนิธิกระจกเงาหลังพบตัวเด็กที่หนีออกจากบ้าน ด้วยการให้คำแนะนำกับเด็กและครอบครัว มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากครอบครัวของเด็กไม่ให้ความร่วมมือ

“ครอบครัวที่เจอเด็กแล้วเขามักจะตัดขาดจากเรา พอเจอตัวเด็กแล้ว มักจะไม่รับสาย ไม่เป็นไปตามกระบวนการ ไม่มาพบเราหรือพบจิตแพทย์เด็ก เพราะว่าส่วนหนึ่งครอบครัวคนหาเช้ากินค่ำ ตอนที่ลูกเขาหายเขาอาจจะหยุดงานไปเยอะแล้ว พอลูกกลับมาก็เลยต้องไปทำงานไม่มีเวลา กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีกระบวนการไปเยียวยาหรือดูแลเด็กต่อ หรือความเชื่อของสังคมไทยคิดว่าไปพบจิตแพทย์แปลว่าบ้า ทำให้ไม่อยากไปพบ” นายเอกลักษณ์กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามช่วยเหลือตามหาเด็กหายโดยการเก็บข้อมูลจากครอบครัว แล้วนำภาพล่าสุดของเด็กก่อนหาย มาวาดเป็นใบหน้าที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับอายุปัจจุบันของเด็ก เพื่อความสะดวกในการประกาศตามหา แต่อย่างไรก็ตามแนะนำให้ครอบครัวความเอาใจใส่ในการดูแลเด็ก เพื่อลดปัญหาการหนีออกจากบ้าน หรือถูกลักพาตัว

“1. ผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลเด็ก อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว 2. รับรู้ข้อมูลเด็กอย่างต่อเนื่อง 3. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองโดยสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้เร็วที่สุด 4. อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรืออยู่ตามลำพัง และ 5. ให้คำแนะนำเด็กให้รู้ถึงวิธีการล่อล่วงของคนร้ายฝึกให้เด็กได้มีทักษะการสังเกตจดจำเบื้องต้น” พล.ต.อ.ชัยวัฒน์กล่าว

นายเอกลักษณ์ กล่าวเสริมถึงการตามหาคนหายว่า การโพสต์ภาพลงอินเตอร์เน็ตเพื่อตามหาตัวคนหายหรือเด็กหาย ไม่ใช่แนวทางปฎิบัติของมูลนิธิกระจกเงา เนื่องจากการโพสต์ภาพลงอินเตอร์เน็ตอาจส่งผลกระทบต่อตัวคนหายอย่างคาดไม่ถึง เพราะแม้จะตามตัวเด็กหายพบแล้ว แต่ภาพยังคงถูกเผยแพร่ซ้ำบนอินเตอร์เน็ต สร้างความไม่สบายใจให้กับตัวเด็กที่เคยหนีออกจากบ้านเอง จนหลายรายต้องเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือย้ายที่อยู่

ดังนั้นการเผยแพร่ภาพคนหายควรใช้กับบางกรณีเท่านั้น เช่น บุคคลที่หายเป็นผู้สูงอายุมีอาการความจำเสื่อม คนหายเป็นผู้มีความผิดปกติทางการรับรู้ เด็กสมาธิสั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำทุกจังหวัด หน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ทำงานเป็นกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ภายใต้พรบ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยอาศัยการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานเป็นทีมสหวิชาชีพ อันประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา แพทย์ ครู เพื่อน ครอบครัว และชุมชน เพื่อสร้างสัมพันธภาพให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด และมีฮอทไลน์ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ติดต่อได้ 24 ชม.

* ปรับปรุงเพิ่มเติม ข้อมูลพบตัวคนหาย ของปี 2559

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง