"บิ๊กตู่" เผยจะตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอเจาะไอร้อง
2018.04.17
ปัตตานี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าว ในวันอังคารนี้ว่า จะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อันเป็นมาตรการสร้างความไว้ใจระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ดำเนินมากว่าสามปี ซึ่งตนเองมีความคาดหวังถึงผลสำเร็จเช่นเดียวกันกับประชาชน
ทั้งนี้ อำเภอเจาะไอร้อง เป็นพื้นที่ที่เกิดการปะทุของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ครั้งใหม่ เมื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ยกกำลังเข้าโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง แล้วขโมยอาวุธสงครามไปกว่าสี่ร้อยกระบอก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
“การเตรียมการประกาศพื้นที่ปลอดภัยคาดหวังหรือไม่ ผมก็ต้องคาดหวังเหมือนประชาชนทั่วไป ไม่มีใครอยากให้งานนี้ไม่สำเร็จหรอกนะ การพูดคุยสันติสุข ผมคาดหวังว่ามันจะเป็นกระบวนการให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ตอนนี้ ก็ทราบว่าเขาจะทำในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสก่อน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี
นับตั้งแต่การปล้นปืนค่ายปิเหล็งเมื่อกว่า 14 ปีก่อน มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงประมาณ 7,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากมาเลเซียในการจัดการพูดคุย เพื่อหาหนทางยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธีกับกลุ่มผู้ที่รัฐบาลเรียกว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ องค์กรมาราปาตานี
เมื่อเดือนมกราคม พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ของฝ่ายไทย กล่าวว่า ทางคณะทำงานทางเทคนิคของไทยและของมาราปาตานี สามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นในการเลือกหนึ่งอำเภอ เพื่อจะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ได้เปิดเผยชื่อในขณะนั้น เพราะเกรงการโดนโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจากการพูดคุย รวมทั้งการที่ยังต้องดำเนินขั้นตอนพิจารณาและอนุมัติร่วมกันโดยคณะพูดคุยชุดใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่จะเลือก
ในห้วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งพลเอกอักษราเอง ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ในอำเภอต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในการจัดตั้งสำนักงานประสานงานของฝ่ายไทย ฝ่ายมาราปาตานี และฝ่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ขึ้นมา เพื่อการรณรงค์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า พื้นที่ปลอดภัยควรมีลักษณะอย่างไร
เมื่อกลางเดือนมีนาคม นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าว่า ทางคณะกรรมการ ได้ดำเนินการจัดปรับปรุงพื้นที่ภายในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นสถานที่เตรียมการในการจัดพื้นที่การพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ รวมทั้ง การจัดพื้นที่เซฟเฮ้าส์ ให้กับผู้ที่มีคดีความมั่นคง จำนวน 3 ราย ที่จะพักโทษ โดย 2 ราย มาจากนราธิวาส และอีก 1 ราย มาจากจังหวัดยะลา เนื่องจากเขาไม่กล้าที่จะกลับพื้นที่ จึงได้จัดสถานที่ในคณะกรรมการอิสลาม เพื่อเป็นพื้นที่พักโทษให้ โดยจะพักประมาณ 7-8 เดือน
ตัวแทนเจรจาฝ่ายไทย กล่าวว่า หนึ่งในขั้นตอนการเจรจา คือการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ด้วยการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เพื่อลดความรุนแรงรายวันที่จะเอื้ออำนวยต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งเป็นกรอบใหญ่
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เช่น ดอน ปาทาน กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพจะสะดุดลงได้ถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่ปล่อยตัวนักโทษสามคนดังกล่าว
ด้านนายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งได้เดินทางลงพื้นที่เจาะไอร้อง เมื่อไม่กี่วันนี้ กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า การเปิดเผยชื่อพื้นที่ปลอดภัยเร็วเกินไป ในขณะที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอาจจะทำให้กลายเป็นเป้าหมายของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
"ถ้าหากมีการประกาศที่เจาะไอร้องจริง เจ้าของพื้นที่หลายคนคงอึดอัดพอสมควร แล้วถ้าประกาศไปก็จะทำให้เกิดความล่อแหลมอาจโดนถล่ม โดนกลุ่มที่ไม่พอใจออกมาทำอะไรหรือเปล่า นายกพูดมา หน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยก็ควรที่จะต้องระวังให้มากขึ้น” นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนายมะแซ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้านในอำเภอเจาะไอร้อง กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับการตั้งพื้นที่ปลอดภัย แม้ว่าประชาชนให้ความสนใจน้อยมาก
"ก็อยากให้ทำ เมื่อทำแล้วจะดีไม่ดีค่อยว่าอีกที ส่วนประชาชนมีความหวังไหมกับการทำพื้นที่ปลอดภัย บอกตรงๆ ว่า คนสนใจเรื่องพูดคุยน้อยมาก บางกลุ่มไม่รู้เรื่องเลย ส่วนคนที่สนใจที่มีน้อยอยู่แล้วก็ไม่มีความหวังกับเรื่องนี้นะ" นายมะแซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าหากฝ่ายผู้เห็นต่างจริงใจ การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยจะประสบผลสำเร็จ
“ถ้าผู้เห็นต่างเขาตั้งใจจริง ก็จะไม่ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องใช้กำลัง ไม่เกิดการปะทะ ความรุนแรงก็ลดลงเองแหละ แต่ถ้าหากมีกลุ่มอื่นที่ไม่เข้าร่วมกระบวนการ จะสร้างสถานการณ์ขึ้นมาอีกหรือเปล่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน สิ่งที่เราต้องการคือ ความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรากำหนดไว้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว