พล.อ.ประยุทธ์: กม.ไทยบังคับในต่างประเทศไม่ได้ ในการเยือนญี่ปุ่นของ2อดีตนายกฯ
2018.04.03
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า กฎหมายไทยไม่สามารถใช้บังคับในต่างประเทศได้ หากรัฐบาลได้ประสานการขอส่งตัวนักโทษไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับกลับมา หลังจากสื่อมวลชนได้ถามเกี่ยวกับการปรากฏตัวของนายทักษิณ-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ในงานเปิดตัวหนังสือของนักการเมืองชาวญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ทำเนียบรัฐบาลตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงความรู้สึก ต่อการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือนายฮาจิเมะ อิชิอิ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ของอดีตนายกรัฐมนตรีตระกูลชินวัตรทั้งสองคนว่า รัฐบาลทหารรู้สึกเหมือนถูกเยาะเย้ยที่ไม่สามารถนำตัวทั่งคู่มาลงโทษหรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุ ไม่รู้สึกเช่นนั้นแต่อย่างใด
“กฎหมายเขาบังคับต่างประเทศได้ไหม เขาไม่ส่งตัวก็คือไม่ส่ง ก็ได้ประสานไปหมดแล้ว ถ้าเขาไม่ตอบรับกลับมา ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ที่รัฐบาลในประเทศปลายทาง เขาอนุมัติเป็นครั้งคราว ไม่ได้ให้ตลอดไป อันนี้ที่เขาให้เป็นเรื่องหนังสือ ผมจะไปรู้สึกอะไรกับเขา เขาน่าจะอายผมมากกว่า ทำผิดกฎหมายแล้วไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตวินัย ระบุต่อสื่อมวลชนในห้วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ว่า รัฐบาลพยายามส่งหนังสือขอตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงนายทักษิณไปยังประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่ขึ้นอยู่ว่า รัฐบาลประเทศนั้นๆจะตอบรับหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีปฎิกริยาจากรัฐบาลต่างประเทศ
ต่อการปรากฎตัวที่ประเทศญี่ปุ่นของ อดีตนายกรัฐมนตรีตระกูลชินวัตรสองราย ซึ่งต้องคดีถือเป็นการปรากฏตัวในเอเชียครั้งที่สอง หลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมามีภาพ นายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในประเทศญี่ปุ่น และเกาะฮ่องกง ประเทศจีนมาแล้ว โดยตัวแทนรัฐบาลได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ไทยพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อติดตามนำตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองรายกลับมารับโทษตามกฎหมาย แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากความผิดในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยให้เหตุผลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รับรู้การทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) แต่ไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ อย่างไรก็ตาม ศาลเคยนัด น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 แล้วหนึ่งครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมาตามนัด และไม่มีใครพบตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์อีก ซึ่งรัฐบาลระบุภายหลังว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว แต่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในประเทศอื่นหลังจากนั้น
กระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2560 มีการเผยแพร่ภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในประเทศอังกฤษ เป็นครั้งแรกบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นภาพถ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ระยะไกลในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เป็นชุดภาพ 3 ภาพ โดยภาพหนึ่งในนั้น มีบุคคลหน้าคล้าย นายศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ด้วย และครั้งที่สองถูกเผยแพร่ในเช้าตรู่ของวันที่ 5 มกราคม 2561 เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งถ่ายคู่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยทั้ง 2 ครั้ง ยังไม่ทราบต้นทางผู้เผยแพร่
ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร ถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง และมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
11 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายทักษิณ เป็นจำเลยจากความผิดในการทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ซึ่งก่อนหน้านั้นนายทักษิณได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปชมกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีนในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 แต่นายทักษิณไม่ได้กลับมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัด
21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาลับหลังตัดสินจำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 เดือนไม่รอลงอาญา ส่วนคุณหญิงพจมาน ถูกยกฟ้อง ปัจจุบัน นายทักษิณอาศัยอยู่ในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่เคยเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกเลยนับจากนั้น แต่ปรากฎภายนายทักษิณเดินทางไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก และเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์และอินสตาแกรมส่วนตัวเป็นระยะ
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นความร่วมมือตามประมวลกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยจัดส่งผู้ที่กระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและหลบหนีไปยังประเทศอื่น คืนไปยังประเทศที่ความผิดเกิดขึ้น จะต้องเป็นการร้องขอโดยผ่านพิธีการทางการทูต ประเทศที่ไทยมีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับ 16 ประเทศ คือ 1.สหรัฐอเมริกา 2.สหราชอาณาจักรและไอแลนด์เหนือ 3.แคนาดา 4.เบลเยี่ยม 5.จีน 6.เกาหลีใต้ 7.อินโดนีเซีย 8.ออสเตรเลีย 9.ฟิลิปปินส์ 10.กัมพูชา 11.ฮ่องกง 12.ลาว 13.บังคลาเทศ 14.ฟิจิ 15.มาเลเซีย และ 16.อินเดีย