ศาลยกฟ้อง สมชาย-ชวลิต คดีสลายชุมนุมพันธมิตร ปี 51

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.08.02
กรุงเทพฯ
TH-somchai-1000 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โบกมือให้ผู้สนับสนุนก่อนเดินเข้าไปยังห้องพิจารณาคดีศาลฎีกา วันที่ 2 สิงหาคม 2560
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (2 สิงหาคม 2560) นี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ) ในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสองราย และบาดเจ็บหลายร้อยราย เนื่องจากพยานและหลักฐาน ทำให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายประชาชน

“ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ ข้อเท็จจริงจากการนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 3 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต ดังนั้น นายสมชาย จำเลยที่ 1 และพล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” คำพิพากษาระบุ

คำพิพากษาระบุว่า ในส่วนของ พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 นั้นได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมและมีผู้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงไม่มีความผิดในการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

“แม้เหตุการณ์ จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้น เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

หลังทราบคำพิพากษา ประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนกว่า 20 คน ที่มารอหน้าอาคารศาลฎีกาฯ ได้ส่งเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจกับคำตัดสิน โดยตะโกนคำว่า “ฆาตกร” และ “ทำร้ายประชาชน” ใส่ผู้ติดตามของนายสมชาย-พล.อ.ชวลิตที่เดินออกจากประตูศาลฎีกาฯ ขณะที่ประชาชนบางรายร้องไห้ เพราะเสียใจและผิดหวังกับคำตัดสิน ส่วนอดีตจำเลยที่ได้รับการยกฟ้องได้เอาออกไปทางด้านหลัง

นายตี๋ แซ่เตียว ปัจจุบันอายุ 73 ปี ซึ่งโดนกระสุนแก๊สน้ำตา (Tear gas canister) จนขาขวาท่อนล่างขาด ได้แก่เบนาร์นิวส์ก่อนการตัดสินคดีว่า ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

“ผมอยู่ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 51 โดนแก๊สน้ำตาจนขาขาด ตลอดหลายปีมานี้ ผมรอว่าวันใดวันหนึ่ง ผมจะได้รับความจริงว่ามันผิด" นายตี๋ แซ่เตียว กล่าวด้วยความสะเทือนใจ

ด้านนายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และเชื่อว่าแนวทางการพิพากษานี้จะกระทบต่อเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนในอนาคต

“มันอาจจะเป็นแนวที่จะต้องยึดถือปฎิบัติต่อไป ว่าถ้าปล่อยให้คำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุมไม่มีความผิด ต่อไปก็จะไม่มีความชุมนุมเกิดขึ้นอีก...แต่ผมก็มีความคิดเห็นของผม รู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา คิดดูแล้วกันว่าใครได้ประโยชน์กับคำพิพากษานี้ มันจะกระทบกับเสรีภาพของประชาชนไหม” นายวีระกล่าว

คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงาน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากการออกคำสั่งสลายชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้รับบาดเจ็บรวม 471 ราย

ในวันนี้ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้รายงานว่า ทีมทนายของ ปปช. ได้คัดสำนวนคำตัดสิน เพื่อไปพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีภายในสามสิบวันตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อนุญาตหรือไม่

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ใส่สูท) เข้าไปขอโทษนายตี๋ แซ่เตียว (สวมเชิ้ตดำ) เหยื่อที่โดนระเบิดขาขาด วันที่ 2 สิงหาคม 2560 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

การชุมนุมของพันธมิตรฯ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 รัฐบาลภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่จากเดิมสามารถถือครองได้ไม่เกิน 25% เป็นสามารถถือครองได้ไม่เกิน 50% และยกเลิกข้อบังคับเรื่องสัดส่วนของกรรมการบริษัทสัญชาติไทยด้วย

และหลังจากกฎหมายดังกล่าวประเทศใช้ 3 วัน ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เอไอเอสได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 49.595% ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

การกระทำครั้งนั้นนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในวันที่ 20 กันยายน 2549

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ในฐานะพรรคตัวแทนของนายทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งเป็นพรรคเสียงข้างมาก จึงได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเพื่อขับไล่อีกครั้ง และชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน

จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้กระจายการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา โดยพยายามปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้ นายสมชาย และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในขณะนั้น เข้าอาคารรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้นัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อให้การประชุมรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง