ผู้ได้รับผลกระทบจาก 15 ปีเหตุการณ์ตากใบ ไม่ขอฟ้องร้องรัฐ

มาตาฮารี อิสมาแอ และ มารียัม อัฮหมัด
2019.10.25
นราธิวาส และปัตตานี
191025-TH-takbai-anniversary-800.jpg นางแยนะ สะแลแม (ใส่แว่น) แกนนำกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ต้อนรับ นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่มาร่วมในพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 15 ปีก่อน วันที่ 25 ตุลาคม 2562
มาตาฮารี อิสมะแอ/เบนาร์นิวส์

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นี้ เหตุการณ์ประชาชนชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตถึง 85 ราย ได้ครบรอบ 15 ปีแล้ว ซึ่งในวันนี้ ทางญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้จัดพิธีละหมาดฮายัดเพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น โดยแกนนำกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ กล่าวว่า ทุกคนตัดสินใจไม่ติดตามดำเนินคดี เพราะไม่สามารถต้านทานพลังฝ่ายรัฐได้ แม้ว่าจะเหลืออายุความเหลืออีก 5 ปีก็ตาม ส่วนนักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รัฐบาลควรจะทบทวนกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ

ในวันนี้ เมื่อ 15 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ได้เข้าสลายผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคน ที่บริเวณสนามเด็กเล่น ตรงข้ามสถานีตำรวจตากใบหลังเก่า ในจังหวัดนราธิวาส ที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์สินของราชการ และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป

หลังจากการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมกว่าหนึ่งพันคน เพื่อนำไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ในจังหวัดปัตตานี ห่างจุดเกิดประท้วงกว่า 150 กิโลเมตร โดยมีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังผู้ชุมนุม แล้วนำขึ้นรถบรรทุกทหารยีเอ็มซีอย่างแออัด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ นอกจากนั้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย และที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ตากใบ อีก 58 ราย ซึ่งในปี 2556 ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะได้มีการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเป็นยอดรวมกว่า 641 ล้านบาท

นางแยนะ สะแลแม อายุ 60 ปี แกนนำกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ในฐานะผู้นำสตรี สันติภาพ อ.ตากใบ (ภาคประชาสังคม) ซึ่งสามีถูกยิงเสียชีวิตก่อนเกิดเหตุการณ์ และลูกชายถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ แต่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า  กลุ่มผู้ได้ผลกระทบไม่มีความคิดในใจในเรื่องการดำเนินคดีแล้ว แม้อายุความจะสิ้นสุดลงใน 5 ปีข้างหน้า

“ส่วนทางคดีทุกคนบอกว่า ไม่ขอทำให้ยืดเยื้อ เพราะชาวบ้านไม่มีพลังที่จะไปต่อสู้กับรัฐ” นางแยนะ ซึ่งได้ร่วมจัดให้มีการประกอบพิธีละหมาดฮายัต และอ่านอัรวะฮ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับไปแล้ว ในหมู่บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“มันลบยาก เพราะมันคือฝีที่เกิดขึ้น แล้วมีแผลเป็น ตอนนี้ไม่รู้สึกอะไรแล้ว เพียงแต่ที่ยังจัดงาน เพราะเคยจัดมาตลอด 15 ปี พอถึงครบรอบเหตุการณ์ที่สูญเสีย ก็ต้องจัดเพื่อรำลึกสิ่งที่เกิดขึ้น... ตราบใดที่กะนะยังมีชีวิต กะนะก็จะจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบ จะไม่ลืมเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ และเหตุการณ์ที่กลุ่มไม่ทราบฝ่ายกราดยิงสามีของกะนะ เมื่อ 15 ปี ที่ผ่านมา” นางแยนะ กล่าวเพิ่มเติม

ในเรื่องการเยียวยานั้น ในปี 2556 ทาง ศอ.บต.ได้เยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 85 คน รายละ 7.5 ล้านบาท คนบาดเจ็บ 51 คน แยกเป็นเจ็บไม่มาก ได้คนละหนึ่งล้านบาท ส่วนคนเจ็บหนักพิการและต้องรักษาอาการต่อเนื่อง ทั้งหมดได้คนละ 4 ล้านกว่าบาท ส่วนคนที่ถูกจับ 58 คน รัฐบาลให้เฉพาะค่ารักษาจิตใจ คนละ 3 หมื่นบาท โดยนางแยนะ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ขอให้ยุติความพยายามในการฟ้องร้อง

หลังเกิดเหตุการณ์ คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ รายงานว่า มีผู้ได้รับความเสียหาย คือ มีผู้เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนระหว่างการสลายการชุมนุม 7 ราย มีผู้ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน 1,370 คน โดยใช้รถบรรทุก 22 หรือ 24 คัน โดยมีผู้เสียชีวิตบนรถระหว่างการเคลื่อนย้าย 78 คน มีผู้สูญหาย 7 คน นอกจากนั้น ยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ซึ่งหลายคนกลายเป็นผู้พิการในเวลาต่อมา

ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ออกมากล่าวคำขอโทษพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

ในส่วนสำนวนสอบสวนที่เกี่ยวข้อง ในห้วงปี 2552 นั้น มีการไต่สวนของศาลจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่” ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด

ส่วนสำนวนคดีการมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน พนักงานสอบสวนสรุปว่า ไม่สามารถสืบทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุดเช่นกัน

ส่วนคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน ในข้อหายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายนั้น แต่มีการถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2549 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า การยุติข้อพิพาทในคดีนี้ จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน นายหายีดิง มัยเซง ผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิงกระสุนจากด้านหลัง กล่าวว่า อาการของตนยังไม่ดีขึ้น เพราะทุกครั้งที่อากาศเย็นตนจะไม่สบายหนาวสั่นจนต้องเข้าโรงพยาบาลทุกครั้ง แต่ส่วนเรื่องการฟ้องร้องนั้น ไม่คิดเรื่องนี้เพราะมีความยุ่งยาก

“แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน แต่ส่วนเรื่องคดีความ ก็ไม่อยากไปรื้อฟื้นแล้ว มันยากสำหรับเราชาวบ้าน” นายหายีดิง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ชาวบ้านประท้วงที่บริเวณหน้า สภ.ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม 2547 (มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์)
เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ชาวบ้านประท้วงที่บริเวณหน้า สภ.ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม 2547 (มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์)

นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลทำความจริงให้ปรากฏ

ในวันนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2562 กล่าวว่า รัฐบาลควรจะทบทวนกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้ความจริงปรากฏเพื่อให้ทหารเป็นมืออาชีพ

“ในโอกาสครบ 15 ปีเหตุการณ์ตากใบ เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรม กรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (Atrocity Crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก และเพื่อคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว ทั้งตามหลักอายุความคดีอาญาซึ่งมีอายุความ 20 ปี กรณีตากใบ เราจึงมีเวลาอีก 5 ปี ในการดำเนินการเพื่อนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการเปิดเผยความจริงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิทุกคน” นางอังคณากล่าว

“การนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลไม่ใช่เพื่อการแก้แค้น หรือเพื่อประจานบุคคลหรือหน่วยงานใด แต่การนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) จะนำไปสู่การเปิดเผยความจริง และนำไปสู่วัฒนธรรมการพร้อมรับผิด (Accountability) ยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ (Cultural of Impunity) และจะนำไปสู่การปฏิรูปความมั่นคงและปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพ” นางอังคณากล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า คนนอกพื้นที่ไม่ควรพยายามส่งเสริมให้รื้อฟื้นคดี

“เรื่องตากใบยุติไปแล้ว การดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ที่เขาจะพิพากษา ซึ่งมันยุติแล้ว ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาก็มีการจ่ายเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามเขาไปพบปะกับเครือญาติอยู่ตลอดเวลา อย่าไปจุดกระแส ปัจจุบันนี้ คนที่มาจุดกระแสล้วนเป็นคนนอกทั้งนั้นเลย ทหารไม่เคยหวาดระแวงชาวบ้าน มีแต่จะปรับทุกข์ผูกมิตรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง