ศาลออกหมายจับทักษิณ คดีสัมปทานบริษัท ชินคอร์ป เพิ่ม
2018.03.06
กรุงเทพฯ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำให้รัฐสูญเงิน 6.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มเติม ในวันอังคารนี้ โดยศาลฯจะพิจารณาคดีลับหลัง นัดตรวจหลักฐานวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 นี้
องคณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ในคดีแปลงสัมปทานกิจการโทรคมนาคมฯ ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในวันนี้ พร้อมด้วยอัยการโจทก์ แต่ไม่มีทนายความของฝ่ายจำเลยหรือตัวแทนมาศาลฯ และไม่ได้แจ้งเหตุ ทำให้ศาลฯ ออกหมายจับเพิ่มเติม
“ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นัดพิจารณาคดีครั้งแรก อัยการโจทก์มาศาล โดยโจทก็ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องในวันนี้ ส่วนจำเลยทราบนัดโดยชอบ แต่ไม่เดินทางมาและไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลย โดยให้อัยการโจทก์ติดตามดำเนินการจับกุมจำเลย และรายงานให้ศาลทราบทุกๆ 1 เดือน” คำสั่งศาลระบุ
“การที่จำเลยไม่เดินทางมา ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธไม่ได้กระทำผิดตามคำฟ้องโจทก์ จึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ และให้แจ้งนัดให้จำเลยได้ทราบตามที่อยู่ทะเบียนราษฎร์ที่แจ้งไว้ย่านจรัญสนิทวงศ์ และหากไม่มีผู้รับให้ติดหมายนัดไว้ที่บ้านพักจำเลย” คำสั่งศาลระบุเพิ่มเติม
สำหรับคดีนี้ อัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 60 ขอให้ศาลฯ พิจารณานำคดีที่ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นจำเลย ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 51 กลับมาพิจารณาต่อไปหลังจากที่คดีนี้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนีคดี และได้ถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ให้อำนาจศาลฯ สามารถพิจารณาคดีต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ก่อนที่ศาลจะพิพากษา
นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ถูกฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100, 122 กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ. 2527) พ.ศ. 2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551
“เราไม่ได้รื้อคดี เราทำตามที่กฎหมายระบุให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไปได้ ส่วนการดำเนินการจับกุมคุณทักษิณ เราจะแจ้งให้ทราบต่อไป” นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์
นอกจากคดีดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดยังเป็นโจทก์ ร้องต่อศาลฯ ให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามกฎหมายใหม่อีกหนึ่งสำนวน คือ คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อ 9 พันล้านบาทให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร และคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการยื่นอีก 2 สำนวน คือ คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากชินคอร์ป และ คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน 3 ตัว 2 ตัว
เบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อทนายความ หรือคนใกล้ชิด ของ นายทักษิณ ชินวัตร เพื่อขอความเห็นในคดีดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ปัจจุบัน พบหลักฐานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อาศัยอยู่ในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดินทางไปยังประเทศต่างๆเป็นประจำ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้