พนักงานศูนย์ฮาลาล อำเภอปะนาเระ บาดเจ็บหนึ่งราย จากเหตุระเบิดหน้าศูนย์

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.02.25
ปัตตานี
TH-violence-1000 ประชาชนชุมนุมประท้วงการใช้ความรุนแรง หลังจากเหตุระเบิด จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ที่นิคมฮาลาล ปะนาเระ วันที่ 25 ก.พ. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (25 กุมภาพันธ์ 2559) นี้ ได้เกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดที่หน้านิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ในตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ ปัตตานี ส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพบว่า บริเวณนี้เคยเกิดเหตุแล้วหลายครั้ง ด้านชาวบ้านในพื้นที่ยืนยัน ไม่ได้ปฎิเสธโครงการ และเรียกร้องความสงบ

เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.45 น. ของวันพฤหัสบดี ที่บริเวณป้อมยามศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร หน้านิคมฯ ทำให้นางซาลีมะ ดือลาแม อายุ 37 ปี แม่บ้านประจำศูนย์ฯ ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแขนและขา

พ.ต.อ. ปัญญวัฒน์ เพชรชุม ผู้กำกับ สน. ปะนาเระ กล่าวว่า จากตรวจสอบที่เกิดเหตุพบระเบิดแสวงเครื่องแบบวางเร่งด่วน คนร้ายได้นำมาวางไว้ข้างป้อมยามหน้านิคมฯ

ด้าน พ.ต.ต. ไพบูลย์ พูนมะณี หัวหน้าชุดควบคุมการปฏิบัติเจ้าหน้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐาน กล่าวว่า ระเบิดดังกล่าว มีสะเก็ดระเบิดเป็นเหล็กเส้นตัดคละขนาด ถูกบรรจุในท่อเหล็ก และอำพรางด้วยถังสีพลาสติก ใช้การจุดชนวนด้วยการตั้งเวลาจากโทรศัพท์มือถือ

สำหรับแรงจูงใจในการก่อเหตุ หรือชื่อกลุ่มผู้ก่อเหตุนั้น เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้

ความคิดเห็นของชาวบ้านต่อเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณนิคมฯ

นายยาสะแม ผู้ใหญ่บ้านท่าสู ตำบลน้ำบ่อ กล่าวว่า “ถ้าให้พูดตามจริงชาวบ้านที่อาศัยบริเวณใกล้ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เขาไม่ได้ปฏิเสธ [การก่อสร้างนิคมฯ] หรือ มีปฏิกิริยาอะไร จึงไม่ชัดว่าคนร้ายต้องการทำเพื่ออะไร”

“คนที่นี่ไม่ต้องการความรุนแรง ทุกคนก็ไม่ต้องการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กันทั้งนั้น” ผู้ใหญ่บ้านท่าสูงทิ้งท้าย

นางคอรีเยาะ หะหลี ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะ และโฆษกชาวบ้านกล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการสร้างความรุนแรงลักษณะนี้ เพราะเป็นการทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องด้วย ต้องตกเป็นเหยื่อ และนางซาลีมะ ดือลาแม เป็นเพียงแค่แม่บ้านไม่ได้กระทำผิดอะไร

“สาเหตุที่ทำให้คนร้ายมาวางระเบิดวันนี้ส่วนตัวมองว่า โรงงานนี้มีข่าวเชิงลบมามากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์ อยากให้เจ้าหน้าที่แยกแยะให้ออกระหว่าง เรื่องความขัดแย้งภายในโรงงาน กับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่” นางคอรีเยาะกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย นายมะแอ สะอะ อดีตแกนนำพูโล ได้พัฒนาพื้นที่ด้านหลังนิคมฯ ให้เป็นที่พักพิงสำหรับผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่กลับใจ เฉพาะผู้ที่ไม่มีที่ไป และไม่มีอาชีพ จากจำนวนสามพันกว่าคนที่ได้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน

ประวัติการก่อเหตุไม่สงบหน้านิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ปัตตานี

เดือนเมษายน 2556 คนร้ายไม่ทราบฝ่าย จำนวน 10 คน ก่อเหตุใช้อาวุธโจมตีฐานกองอาสารักษาดินแดน ภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

และในวันเดียว ห่างจากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร 1 กิโลเมตร เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบฝ่ายได้ลอบวางระเบิดใส่ เจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อย ทพ. 4412 ซึ่งกำลังเดินทางกลับฐาน หลังจาก การลาดตระเวนตรวจตรา นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ส่งผลให้มีทหารพราน เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 6 นาย

ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน บุกปล้น และวางเพลิง ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ส่งผลให้ อาคารละหมาด อาคารผลิต อาคารนิทรรศการ และอาคารอบรมเสียหาย โทรทัศน์ 6 เครื่อง ถูกขโมยไป

ความเป็นมาของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ปัตตานี

จุดเริ่มต้นของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี มาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ นอกสถานที่ ที่จังหวัดนราธิวาส ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เร่งรัดการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยใช้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รับผิดชอบ ในการหารือกับภาคเอกชน และชักชวนผู้ประกอบการที่สนใจมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2547 คณะกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เห็นชอบให้ กนอ. ร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรก 170 ไร่ ซึ่งทาง บริษัทฟาตอนีฯ เป็นผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค ดำเนินงานด้านเทคนิค และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ กนอ. กำหนด

กนอ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยทาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548

ต่อมา บริษัทฟาตอนีฯ ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 170 ไร่ให้กับ กนอ. และวันที่ 20 ก.ค. 2548 กนอ. ได้อนุมัติผังแม่บทนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามด้วยการจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้บริการผู้ประกอบการ ณ จุดเดียว ด้วยงบประมาณ 84 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2549 ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลจะแบ่งเป็นโซนอุตสาหกรรมทั่วไป โซนผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี (SME) สามารถรองรับผู้ลงทุนได้ประมาณ 70 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง