กระทรวงสาธารณสุข ตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาในเด็กศีรษะเล็ก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.09.27
กรุงเทพฯ
TH-baby-microcephaly-800 มารดาดูแลทารกแรกเกิดของเธอ ที่เกิดมามีอาการศีรษะเล็ก ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลใต้ ในจังหวัดโชลูเตกา ประเทศฮอนดูรัส เมื่อ 28 กรกฎาคม 2559
เอเอฟพี

ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวในวันอังคาร(27 กันยายน 2559)นี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญของทางกระทรวงฯ กำลังตรวจวินิจฉัยอาการของเด็กทารกที่คลอดออกมาโดยมีศีรษะเล็กกว่าปกติจำนวนสามราย และเด็กในครรภ์อีกหนึ่งรายที่ผลอัลตราซาวน์พบว่ามีศีรษะเล็กกว่าปกติ ว่าสาเหตุในแต่ละรายมาจากการได้รับเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ โดยคาดว่าจะประกาศผลได้ในวันที่ 30 กันยายนนี้

"สามราย ในนั้นหนึ่งราย ผลการตรวจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากผลการตรวจไม่ไปในทางเดียวกันทั้งหมด ขณะที่อีกสอง ราย พบเพียงว่าเด็กมีภูมิคุ้มกันเชื้อ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าติดเชื้อซิกาหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น ทั้งหมดต้องรอความชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญในวันที่ 30 กันยายนนี้” นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้

เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน ศกนี้ นายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ในเขตสาทร ได้มีการพบผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสซิการายแรก เป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งนำมาซึ่งการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมได้อีก 21 คน ส่วนพื้นที่ที่พบเด็กที่มีศีรษะเล็กอีกสามรายนั้น ทางกระทรวงฯ ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดให้สื่อมวลชนทราบ

ไวรัสซิกา ติดต่อโดยการกัดของยุงลาย และเพศสัมพันธ์ เป็นต้น เมื่อผู้หญิงรับเชื้อในขณะตั้งครรภ์ อาจจะมีการถ่ายทอดเชื้อไปยังลูก มีผลทำให้ทารกมีศีรษะเล็กกว่าปกติ (Microcephaly) ส่วนในผู้ใหญ่ จะมีอาการไข้อ่อนๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ มีอาการคัน

เมื่อต้นเดือนกันยายน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ระบุว่า สถานการณ์ไวรัสซิก้าของไทย อยู่ในระดับสีแดง จากการเก็บสถิติการแพร่ระบาดในช่วงสามเดือนก่อนหน้านั้น

สถิติกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างน้อย 97 รายใน 77 จังหวัดของประเทศไทย และมีหญิงตั้งครรภ์ที่เคยติดเชื้อไวรัสซิกา และอยู่ในการดูแลของกระทรวงประมาณ 33 ราย แต่ในขณะนี้ ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีเด็กทารกเกิดมาพร้อมการมีศีรษะเล็กผิดปกติเพราะไวรัสซิก้า

ในวันนี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคของไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมแก่เบนาร์นิวส์ว่า การที่ทารกมีศีรษะเล็กนั้นอาจจะเกิดมาจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ และ ทางกระทรวงฯ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเพื่อสรุปสาเหตุต่อไป

“อาการอย่างนี้ มันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากซิกาอย่างเดียว แต่เนื่องจากประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสซิกาว่า สามารถส่งผลต่อหญิงตั้งครรภ์ แต่อยากจะเรียนว่ามันสามารถเป็นได้จากโรคอย่างอื่น หรือการรับสารเคมี และการพักผ่อนไม่เพียงพอ” น.พ.อำนวย กล่าวทางโทรศัพท์

“ผลจากแล็บยังไม่ชัดเจน ขณะนี้ กำลังศึกษาเพิ่มเติม และกำลังนำเข้าไปปรึกษาคณะนักวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็ให้กรรมการเขาพิจารณาต่อ ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 30 กันยายน (2559)” น.พ.อำนวย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ในวันนี้

เมื่อเบนาร์นิวส์ถามว่า หากพบว่าสาเหตุที่เด็กรายใดๆ ในสี่รายที่มีศีรษะเล็กนั้นเกิดจากไวรัสซิกาจริง จะถือเป็นรายแรกของประเทศไทยหรือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ น.พ.อำนวย กล่าวว่า “ผมบอกอย่างนั้นไม่ได้ ในฐานะนักการสาธารณสุข ผมเชื่อว่าในภูมิภาคมีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารอบบ้านของเรามีผู้ติดเชื้อมากน้อยเพียงใด จึงบอกอย่างนั้นไม่ได้”

ซึ่ง เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อองค์กรอนามัยโลก ที่สำนักงานในกรุงเทพ และวอชิงตัน เพื่อยืนยันข้อมูลและสอบถามข้อมูลเพิ่มได้

ในย่านเอเชียอาคเนย์ นอกจากในประเทศไทยแล้ว ไวรัสซิกายังระบาดในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งในสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยราย

“กรณีเด็กที่คลอดออกมา เราจะมีแนวทางในการดูแลไปอีก 2 ปี ตั้งแต่คลอดว่าจะมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ หรือไม่ ทั้งที่ปรากฎมาชัดเจนว่ามีศีรษะเล็ก และไม่มีศีรษะเล็ก ในกรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งจะแก้ไขตามอาการต่อไป” น.พ.อำนวยกล่าวเพิ่มเติม

น.พ.อำนวย ยังได้กล่าวถึงแนวทางการป้องกันอาการจากไวรัสซิกาว่า น่าจะมีวัคซีนออกมา ในปี พ.ศ. 2561

“ทั้งโลกมีความร่วมมือกันภายใต้การประสานขององค์การอนามัยโลก เพื่อจัดการปัญหาในเรื่องนี้ เท่าที่ทราบวัคซีนมีความคืบหน้ามาก ถ้าออกมาแล้วก็จะฉีดป้องกันให้กับเด็กหญิง กรณีซิกามีความพยายามเป็นอย่างมาก ทราบว่าคง 2-3 ปี ประมาณการว่าจะออกมาในปี 2018 ซึ่งถ้าออกมาก็จะเป็นทางออกในการป้องกันกลุ่มเสี่ยง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง