ทางการไทยจับกุมตัวนักค้างาช้างและมาเฟียปลอมพาสปอร์ต
2015.03.22
ในสัปดาห์นี้ ทางการไทยสามารถกวาดล้างอาชญากรรมระดับนานาชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นนักค้างาช้างจากทวีปอาฟริกา เป็นคนสัญชาติมาเลเซียและไทย รวมทั้ง สามารถจับกุมหัวหน้าแก๊งค์ปลอมแปลงหนังสือเดินทางรายใหญ่ชาวอิหร่านได้ในอีกคดีหนึ่งด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ตำรวจ สามารถจับกุมนักค้างาช้างได้ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สำหรับการจับกุมครั้งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการจับกุมงาช้างจำนวน 57 ชิ้น ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 580,000 บาท ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 31ธันวาคม ปีที่ผ่านมา
เอพี รายงานว่า พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หัวหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องหาสองคน ชื่อนาย
บุนชิงเตา อายุ 51 ปี เป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซีย และนายศิริชัย สีดานนท์ อายุ 50 ปี บุคคลสัญชาติไทย ทั้งสองถูกตั้งข้อหาลักลอบนำเข้างาช้างและของผิดกฎหมายเขามายังราชอาณาจักรไทย โดยลักลอบผ่านชายแดนภาคใต้ มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี
ประเทศไทย เป็นตลาดค้าของป่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย ที่ซื้องาช้างและนอแรด ที่ได้มีมาจากการคร่าช้างและแรด ในทวีปแอฟริกา โดยประเทศไทย สุ่มเสี่ยงต่อการโดนแทรกแซงโดยนานาชาติ ฐานที่ไม่ได้มีความจริงจังในการปราบปรามการค้าของเถื่อน เอพีรายงานเพิ่มเติม
ในวันศุกร์องค์กร TRAFFIC ซึ่งป็นองค์กรที่ติดตามการค้าสัตว์ป่า แสดงความชื่นชมต่อการจับกุมในครั้งนี้ โดยกนิฐา กฤษณะสามี ผู้จัดการโปรแกรมภูมิภาค องค์กร TRAFFIC ซึ่งมีออฟฟิศอยู่ที่สลังฮอร์ ในประเทศมาเลเซียกล่าวว่า “เป็นที่น่าปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ทางการไทยได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในห้วงเวลาหลายๆ เดือนที่ผ่านมา”
ก่อนหน้าที่จะมีรายงานข่าวการจับกุมในประเทศไทย องค์กร TRAFFIC ได้รายงานว่า ก่อนหน้านั้น รองนายกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย นายเจมส์ ดาวอส มามิต ได้รายงานว่า กรมศุลกากรมาเลเซีย สามารถจับกุมงาช้างได้ถึง 4,624 ชิ้น ในระหว่างปี 2011 ถึง 2014
องค์กร TRAFFIC อ้างคำพูดของ นายเจมส์ ว่า ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาชาวมาเลเซียสองคน และผู้ต้องหาสัญชาติจีนอีกหนึ่งคน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกลงโทษตามกฎหมายการห้ามมีงาช้างไว้ในครอบครองและห้ามการค้างาช้าง
โดยจำเลยสัญชาติจีน โดนลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือนและถูกปรับเป็นเงิน 250,000 ริงกิต (2,500,000 บาท) ฐานมีไว้ในครองครองและค้างาช้าง จำนวน 16 ชิ้น ผู้ต้องหามาเลเชียคนหนึ่ง ถูกปรับ 200,000 ริงกิต (2,000,000 บาท) และต้องโทษจำคุกสามปี ฐานมีงาช้างไว้ในครองครองจำนวนเก้าชิ้น ส่วนผู้ต้องหาคนสุดท้าย ถูกปรับ 2,000 ริงกิต ฐานมีงาช้างไว้ในครองครองจำนวนสองชิ้น ตามรายละเอียดที่องค์กร TRAFFIC ชี้แจงเพิ่มเติม
หัวหน้าแก๊งค์ทำหนังสือเดินทางปลอมถูกจับ
เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม สำนักข่าวเอพี อ้างถึงการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยว่า ได้มีการจับกุมบุคคลชาวอิหร่าน ชื่อว่า นายมูเรล กูรัต (Murel Gurat) อายุ 45 ปี ได้ ซึ่งบุคคลดังกล่าว ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการปลอมแปลงเอกสารเดินทาง และถือเป็นรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนนานสองปีกว่าก่อนที่จะสามารถจับกุมตัวได้ในจังหวัดชลบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม
เอพีอ้างอิงถึง พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการ สำนักงานกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการยึดเครื่องมือที่ใช้ในการปลอมพาสปอร์ต และพาสปอร์ตประเทศต่างๆ กว่าหกสิบประเทศ ที่ขโมยมาจากผู้อื่นได้ถึง 1,053 เล่ม
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าววว่า “คุณคงไม่เคยเห็นว่าหนังสือเดินทางจำนวนกว่าหนึ่งพันเล่มจาก 65 ประเทศ จะโดนขโมยแล้วนำมารวมอยู่ในที่เดียวกัน นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายดังกล่าวนั้น มีการเชื่อมโยงกว้างขวางกับหลายๆ กลุ่มทั่วโลก”
หนังสือเดินทางที่ถูกขโมยมาส่วนใหญ่เป็นหนังสือเดินทางของบุคคลที่มีสัญชาติในประเทศแถบยุโรป แก๊งค์ปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่มีนายมูเรล เป็นหัวหน้า จะทำการปลอมแปลงเอกสารให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศที่สามด้วยเหตุผลในเรื่องที่ผิดกฎหมาย เอพีอ้างคำพูดของตำรวจ
ทางการไทยมีความวิตกกังวลว่าเอกสารเดินทางปลอมเหล่านี้ จะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการจับกุมและคุมขังตัวชาวอุยเก้อร์จากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน ที่ต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มรัฐอิสลาม โดยทั้งสี่ผู้ต้องสงสัย จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในข้อหาจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนชาวมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศอินโดนีเซียให้เดินทางไปร่วมกลุ่มจีฮาดในต่างประเทศ
ทั้งสี่คนถือหนังสือเดินทางตุรกีปลอมที่จัดหามาจากประเทศไทย และเดินทางเข้าประเทศอินโดนีเซียโดยผิดกฎหมายโดยผ่านทางประเทศมาเลเซีย
เอพี รายงานว่า นายกูรัต โดยแจ้งข้อหาหลายกระทง เช่น ข้อหาปลอมแปลงหนังสือเดินทาง การใช้เอกสารปลอม และข้อหารับของโจร ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลาสิบปี
รายงานโดยทีมข่าวเบนานิวส์ อ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมจากสำนักข่าวเอพี