ครม.รับทราบจัดซื้อเครื่องฝึกบิน T-50 รวม 8 ลำ มูลค่า 8.8 พันล้านบาท
2017.07.11
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (11 กรกฎาคม 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ครม. ได้รับทราบโครงการจัดซื้อเครื่องบินสำหรับฝึกบินของกองทัพอากาศแบบที-50 ทีเอช จำนวน 8 ลำ ในวงเงิน 8.8 ล้านบาทแล้ว โดยชี้แจงว่า กองทัพจำเป็นต้องมีเครื่องบินที่เหมาะสมสำหรับการฝึก และหากสงสัยเรื่องการทุจริตสามารถตรวจสอบได้
“เรื่องการซื้อเครื่องบินฝึกบิน มันต้องเห็นใจคนที่เขาฝึกบินอยู่บ้าง มันใช้เครื่องบิน แอล-39 ไอพ่นที่มันหมดอายุแล้วล่ะ ไปฝึกมาแล้วถ้ามันไม่ดีขึ้นมา คุณสมบัตินักบินไม่ได้ เครื่องไม้ เครื่องมือ จอมันก็คนละอย่างกัน ฝึกมาไม่ดีแล้วมาใช้กริพเพน แล้วมันผิดพลาดขึ้นมาแล้วจะทำยังไง มันไม่เสียมากกว่าเดิมเหรอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
“การเห็นชอบ อนุมัติไปตั้งแต่ปี 58 วิธีการเขามีการจัดตั้งกำหนดคณะทำงานขึ้นมา ก็แข่งขันกันเข้ามา ก็ไปได้กับเกาหลีใต้ ก็เห็นว่าเราไม่ได้ไปผูกมัดกับใครทั้งสิ้น มันจะทุจริตหรือไม่ทุจริตก็ไปตรวจสอบเอาตรงโน้น” นายกรัฐมนตรีระบุ
โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบที-50 ทีเอช ได้รับการอนุมัติโดย ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เป็นการจัดหา เครื่องบิน 1 ฝูงบิน 16 ลำ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ ระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ และระยะที่ 3 จำนวน 4 ลำ ซึ่งโครงการในระยะที่ 1 พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทบ.) เป็นประธานกรรมการจัดซื้อ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเสนาธิการทหารอากาศ และเป็นผู้เดินทางไปลงนามในสัญญาซื้อที่ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558
สำหรับ การจัดซื้อระยะที่ 2 ซึ่งผ่านการรับรู้ของ ครม.ในวันนี้ เป็นการจัดซื้อเครื่องบินอีก 8 ลำ วงเงิน 8,800 ล้านบาท งบประมาณผูกพัน 3 ปี คาดว่า จะมีการเดินทางไปลงนามสัญญาการจัดซื้อ ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 นี้ โดยเป็นสัญญาซื้อแบบผูกพันระหว่างกองทัพอากาศกับบริษัท โคเรีย แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ (Korea Aerospace Industries - KAI) ของสาธารณรัฐเกาหลี
เครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบที-50 ทีเอช เป็นเครื่องบินฝึก ที่จะเข้ามาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่ และฝึกแบบที่ 1 หรือ แอล-39 แซดเอ/เออาร์ที ของกองทัพอากาศ ที่มีแผนจะปลดประจำการ เนื่องจากถูกใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง และมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่สามารถฝึกนักบินให้ตอบสนองต่อความต้องการในการผลิตนักบิน เพื่อปฏิบัติการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงของกองทัพอากาศ คือ เช่น เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 (กริพเพน 39 ซี/ดี) และเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19/ก หรือ เอฟ-16 เอ/บี ปัจจุบัน เครื่องบินแบบที-50 ทีเอช ถูกใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แล้ว
หลังการรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยได้หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศอื่นๆ หลายประเทศ เช่น ยูเครน รัสเซีย และจีน จากเดิมที่ผูกขาดอยู่กับระบบของอเมริกาและยุโรป
โดยโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ๆ จากประเทศจีน ประกอบด้วย โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ชั้นหยวน จำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยกองทัพเรือได้ลงนามจัดซื้อลำแรกไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 และคาดว่าจะได้รับการส่งมอบในปี 2563 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT4 จำนวน 49 คัน หรือหนึ่งกองพันของกองทัพบก มูลค่า 4,900 ล้านบาท เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ที่ใช้งานมานาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพบกได้ดำเนินโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ค 4 ลำ ชุดใหม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่า สหรัฐได้อนุมัติการจัดซื้อแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณจัดซื้อ