ไทยควรหาทางยับยั้งทัพเมียนมาจัดหาอาวุธผ่านธนาคารไทย

ภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.07.12
ไทยควรหาทางยับยั้งทัพเมียนมาจัดหาอาวุธผ่านธนาคารไทย ทอม แอนดรูว์ส ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 11 กรกฎาคม 2567
ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารพาณิชย์ ได้ร่วมหารือวางมาตรการยับยั้งไม่ให้ทางการเมียนมาจัดซื้ออาวุธผ่านการทำธุรกรรมกับธนาคารในประเทศไทย ประธานกรรมาธิการกล่าวในการประชุมกับผู้เสนอรายงานพิเศษกับสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาช่วงสัปดาห์นี้

ทอม แอนดรูว์ส ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เผยว่า รายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ที่ได้รับการเปิดเผยโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เมื่อเดือนที่ผ่านมาระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินรายหลักในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพทหารเมียนมาผ่านระบบการเงินระหว่างประเทศ เขายังเรียกร้องให้บรรดาสถาบันการเงินดำเนินการเชิงรุก เพื่อยับยั้งไม่ให้ทางการเมียนมาทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อซื้อยุทโธปกรณ์ผ่านระบบธนาคารของประเทศไทยได้สำเร็จ

ทอม แอนดรูว์ส เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมประชุมที่รัฐสภากับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์นี้ และได้เรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดสนับสนุนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาตามแผนการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations - ASEAN) ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติความรุนแรง เนื่องจากเป็นขั้นตอนแรกของการได้มาซึ่งสันติภาพ

“ผมขอกระตุ้นให้ กมธ. และรัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอย่างชัดเจนและยืนหยัดที่จะคัดค้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และการใช้เทคโนโลยีสองทางในเมียนมา” นาย แอนดรูว์ส กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม

รายงาน The Billion Dollar Death Trade ดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแลไม่ให้มีการจัดซื้ออาวุธให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาไว้อย่างชัดเจน จึงเห็นได้ว่า มูลค่าของการส่งออกอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ใช้ระบบการทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายลดลงจากเกือบ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2565 เหลือเพียงกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2566

ทอม แอนดรูว์ส ยังเสริมอีกว่า ประเทศไทยซึ่งยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการออกมาตรการสาธารณะมาเพื่อจัดการกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของเมียนมา ทำให้มีมูลค่าของการส่งออกอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่จดทะเบียนในไทยไปยังเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา นั่นคือจากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 เป็นเกือบ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566

เขาจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการพิจารณาตรวจสอบการทำธุรกรรมดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเหมือนกับที่ประเทศสิงคโปร์ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธให้ทางการเมียนมาในประเทศของตน

“สิงคโปร์ได้แสดงจุดยืนในกรณีนี้อย่างชัดเจน... ซึ่งสอดคล้องกับมติของเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (U.N. General Assembly) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดของยูเอ็นยับยั้งการลำเลียงอาวุธไปยังเมียนมา” นาย แอนดรูว์ส ระบุ

รังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศกล่าวว่า คณะทำงานเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงในรายงานดังกล่าว และจะดำเนินการเพื่อจัดการต่อไป

“เราไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ต่อรายงานฉบับนี้ ลำดับต่อไปคือเราต้องออกมาตรการและแผนการเชิงรุก” รังสิมันต์กล่าว และเสริมอีกว่า หน่วยงานใดก็ตามที่เกี่ยวข้องจะต้องรายงานความคืบหน้ากลับมายัง กมธ. ภายในเวลา 30 วัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง