อดีตสมาชิกขบวนการพูโลแสดงความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.11.07
นราธิวาส
161107-TH-pulo-620.jpg นายมะแอ สะอะ (คนที่สี่จากซ้ายมือ) อดีตแกนนำขบวนการพูโลร่วมนำถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในมัสยิดแห่งหนึ่งในนราธิวาส วันที่ 7 พ.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์(7 พ.ย. 2559) นี้ ชาวไทยมุสลิมจำนวนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงร่วมกิจกรรมเพื่อถวายความอาลัยให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งอดีตสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล ยังได้มาร่วมกิจกรรม เนื่องด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เคยได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ชาวไทยมุสลิมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่ประกอบด้วย การถวายดุอาร์เพื่อแสดงความอาลัยหลังการละมาด 5 ครั้งในแต่ละวัน การแจกเสื้อให้แก่ผู้ยากไร้ การประกอบอาหารแจกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยชาวมุสลิมที่มาร่วมกิจกรรมนั้น มีอดีตสมาชิกขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (พูโล)รวมอยู่ด้วย โดยระบุว่า เคยเป็นผู้ที่ได้รับการพระทานอภัยโทษในคดีความมั่นคงชายแดนใต้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายมะแอ สะอะ หรือ ฮัจยีอิสมาแอ ท่าน้ำ อดีตสมาชิกขบวนการพูโลเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมาตนเองและภรรยาได้เดินทางตระเวณไปยังมัสยิดหลายแห่งในเขตพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องด้วยรู้สึกทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

“ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตนี้ ไม่เคยได้ยินใครในพื้นที่พูดถึงในหลวงในทางที่ไม่ดี ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ต่างทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงมาตลอด ในอดีตก่อนที่จะเข้าขบวนการ ชาวบ้านในพื้นที่มีการพูดถึงในหลวงตลอด สมัยอยู่ในขบวนการจะได้ยินตวนกูบีรอ กอตอนีรอ หรือ กาบีร์ อับดุลเราะห์มาน หรือ นายวีระ ณ วังคราม ผู้ก่อตั้งและแกนนำของขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (พูโล) พูดชื่นชมในหลวงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นคนดี การให้สิทธิช่วยเหลือพี่น้องอิสลาม ในหลวงทุ่มเทเพื่อทุกคน” นายมะแอกล่าว

นายมะแอ เปิดเผยว่า สมัยที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำบางขวาง จะใช้เวลาส่วนหนึ่งอ่านปรัชญาของในหลวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้ปรัชญาในหลวงเป็นหลักชัยด้วย  ทั้งยังตั้งใจว่าเมื่อพ้นโทษจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับครอบครัว ซึ่งเมื่อพ้นโทษก็พยายามดำเนินชีวิตตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในการร่วมพัฒนาชาติ และสอนให้ชาวบ้านในพื้นที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

โดยนายมะแอระบุว่า เชื่อมาตลอดว่า ปัญหาในพื้นที่จะสงบลง ถ้าใช้ยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้นโยบาย 3 นโยบายดังนี้ นโยบายที่หนึ่ง สามัคคี สันติสุข คือ สวัสดิภาพ ยุติธรรม และความชอบธรรม  นโยบายที่สอง ส่งเสริมและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจพอเพียง คือ เลี้ยงโค แพะ ทั้งเนื้อและนม ไก่เนื้อและไก่พันธุ์ เลี้ยงปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ตัดเย็บ ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ปลูกพืชผักและไม้ยืนต้น และนโยบายที่สาม การศึกษา ปลูกจิตสำนึกสร้างความเข้าใจ เน้นกิจกรรมกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งอานาซีด ดิเกฮูลู อ่านกลอน แสดงละคร ยิงธนูวิ่งม้า แข่งเรือ ว่าว ฟุตบอล ชกมวย ปีนภูเขา ทำความสะอาดทะเล รวมทั้งแห่ขบวนช้างขบวนนก

นายมะแอ กล่าวอีกว่า คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกดีใจทุกครั้งที่ทราบข่าวว่า ในหลวงจะเสด็จมาในพื้นที่ และคนจำนวนมากจะเดินทางมาเพื่อรับเสด็จ โดยระบุว่า เมื่อตนเองอายุประมาณ 12 ปี หรือในปี 2506 ก็มีโอกาสได้ไปรับเสด็จที่มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้รับเสด็จเพียงแค่ห่างๆ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้ไปร่วมรับเสด็จในครั้งนั้น

นางมารียะ เจ๊ะมิง ภรรยาของนายมะแอ สะอะกล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับการเสด็จสวรรณคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่า พระองค์ทรงงานเพื่อประชาชนไทยทุกคน

“รู้สึกเสียใจมาก ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาโดยตลอด ทราบว่าพระองค์ทรงเหนื่อยมาตลอด พระองค์ทรงงานหนักเพื่อพวกเราทุกคน ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะได้ยินคนในพื้นที่พูดถึงพระองค์ในด้านดีๆ มาตลอด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังพูดถึงในหลวงเสมอ” นางมารียะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

นายนิมุ มะกาเจ ราษฎรอาวุโส จังหวัดยะลา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า เมื่อปี 2505 ได้รับมอบหมายจากนายไพเราะ จันทรัตน์ ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ให้ปฎิบัติหน้าที่ล่ามถวายงานให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ท่านทรงเสด็จฯ ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบเหตุวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก อำภเอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจำได้ว่า พระองค์ท่านได้รับสั่งให้ชาวบ้านไปอยู่ที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

“เมื่อเข้ารายงานตัวในหลวง ร. 9 ถามผมว่า ต้องมีล่ามด้วยหรือ ผมตอบเป็นราชาศัพท์ว่า มีชาวบ้านมุสลิมในท้องถิ่นส่วนหนึ่งมาเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย นอกเหนือจากสมาชิกนิคมที่เป็นชาวไทยพุทธจากแหลมตะลุมพุก ผมแปลคำที่ทรงถามและชาวบ้านตอบ เป็นคำถามของในหลวง ร.9 และพระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์ด้วย” นายนิมุกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง