กกต. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง 74 จังหวัดทั่วประเทศ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.02
กรุงเทพฯ
160802-TH-referendum-620.jpg ประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนญฯ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี วันที่ 2 สิงหาคม 2559
เบนาร์นิวส์

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และประเด็นคำถามเพิ่มเติม” ใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม ศกนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์การลงประชามติระบุ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ฝ่ายต้านรัฐบาลอาจจะเคลื่อนไหวเพื่อขอมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนเกิดเหตุวุ่นวายได้

ในวันอังคาร (2 สิงหาคม 2559) นี้ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบรี เขตทวีวัฒนา ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) จากพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ รวมทั้งนักวิชาการร่วมเป็นวิทยากร มีตัวแทนชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร และนักศึกษา เข้าฟังการเสวนากว่า 300 คน

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ด้วยเหตุผลที่ร่างฯ ฉบับนี้มีหลายมาตราที่ให้ประโยชน์น้อยลงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา และยังมองว่าประเด็นคำถามเพิ่มเติมไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

“ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย พวกผมต้องยืนยันว่า นี่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย มันจะมีการสั่งการได้ การขอร้องได้ คำถามพ่วงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งพวกผมยืนยันว่า พวกผมไม่รับ” นายบุญยอดกล่าวเพิ่มเติม

นายบุญยอดยังชี้ประเด็นที่น่ากังวลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกหลายเรื่อง อาทิ การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนในองค์กรสื่อของรัฐ การให้อำนาจประธานรัฐสภาสามารถถอดถอนเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดการต่อรองระหว่างรัฐบาลกับองค์กรอิสระ และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งอาจถูกครอบงำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทางด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี และการที่รัฐธรรมนูญระบุว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง จะทำให้การเมืองไทยมีลักษณะที่ล้าหลังกว่าเดิม 20 ปี

“หลักสำคัญที่สุดก็คือ มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ผมมองว่าเป็นคำหรูๆ ที่บัญญัติไว้เท่านั้น เพราะตรงนี้จะไม่มีความหมายเลย เพราะคำถามพ่วงขอเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ส.ว. 250 ท่านสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตรงนี้ มันจะล้าหลังไป 20 กว่าปี เหมือนในปี 2535” นายชวลิตกล่าว

การทำประชามติฯ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ทั่วประเทศมีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ สัญชาติไทยอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียงจำนวน 50,585,118 คน แบ่งเป็นชาย 24,465,842 คน หญิง 26,119,276 คน โดยทาง กตต. คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์สถานการณ์หลังประชามติ ฯ

พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังการประชามติฯ โดยเชื่อมั่นว่าการทำประชามติฯ ครั้งนี้ จะมีผู้ไปใช้สิทธิมากกว่าผู้ที่สละสิทธิ และร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบ

“คนที่จะมาลงประชามติมีมากกว่าคนที่ไม่มา และคนที่มาลงจะรับมากกว่าไม่รับ และถ้าประชามติผ่าน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณอภิสิทธิ์น่าจะแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคหรือลดบทบาทลง เพราะมี ส.ส.ในพรรครับมากกว่าไม่รับ” พล.ท.นันทเดช กล่าว

“ถ้าไม่ผ่าน ฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะรุกคืบเพื่อขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมก็จะมีม็อบเล็กๆ ในต่างจังหวัด และมีผลต่อภาคธุรกิจ” พล.ท.นันทเดช กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้านรองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสระชัย จากมหาวิทยาสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวบนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ ในวันนี้ว่า สามารถจำลองสถานการณ์หลังการประชามติออกเป็น 4 แบบ โดยระบุว่า ไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาเป็นเช่นใด เชื่อว่ารัฐบาลจะยังจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามที่เคยได้วางแผนไว้

“รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านด้วย ก็จะเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2560 ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าๆ สอง แบบรัฐธรรมนูญผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่าน จะเลือกตั้งกรกฎาคม 2560” ร.ศ.ยุทธพรกล่าว

“แบบรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงผ่านต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ประเด็นใหม่ คือ คำถามพ่วงที่ผ่านไปแล้วจะถูกใส่ในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่? ซึ่งจะทำให้เลื่อนระยะเวลาการเลือกตั้งไปเดือนธันวาคม (2560) และแบบสุดท้ายรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่านด้วย ก็ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งจะเลื่อนไปเดือนธันวาคม (2560)” ร.ศ.ยุทธพรกล่าวเพิ่มเติม

ประชาชนได้รับข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญน้อยมาก

เรื่องการประชาสัมพันธ์ และการกระจายร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มผู้ร่วมงาน โดยส่วนมากระบุว่า ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญทำให้มีความรู้ความเข้าใจน้อยเกินไปสำหรับการตัดสินใจ

นายอุทัย ตัวแทนชุมชนจากเขตบางกอกน้อย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระบุว่า ประชาชนมีข้อมูลเรื่องร่างรัฐธรรมนูญน้อยมาก และการตั้งคำถามพ่วงสร้างความสับสนให้กับประชาชน

“กกต.ครับ พวกเรายังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญสักฉบับเลย ร่างไม่มี มีแต่จุลสาร วันนี้ เราเพิ่งรู้เรื่องคำถามพ่วง ทำไมไม่บอกว่า ส.ว. 250 คนเลือกนายกฯ ด้วยล่ะครับตรงนี้ อยากให้ช่วยขยายความ เพราะประชาชนไม่รู้” นายอุทัยกล่าว

ด้านนายสมหวัง ตัวแทนชุมชนเขตบางนา กล่าวว่า กกต. ควรจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ให้มากขึ้น เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถตัดสินใจได้ หากไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด

กกต. ได้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มเพียงประมาณ 1 ล้านฉบับ ในขณะที่มีผู้ออกเสียงกว่า 50 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญมาอ่านได้จากทางเว็บไซต์ของ กกต.

สามจังหวัดชายแดนใต้พูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญท่ามกลางเหตุระเบิด

ในวันนี้ ได้เกิดระเบิดในปัตตานี ยะลา และสงขลา ในช่วงที่มีการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญ

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ถือว่ามีความเกี่ยวโยงกันกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องการแสดงนัยยะอะไรบางอย่างในการต่อต้านรัฐธรรมนูญ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ส่วนประชาชนยังมีความก้ำกึ่งที่จะรับหรือไม่รับ คิดว่าประชาชนจะออกมาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และมั่นใจว่าในวันลงประชามติจะไม่มีเหตุการณ์ป่วน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

แกนนำ นปช. เข้ารับทราบข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ข้อหายุยงปลุกปั่น และความผิดต่อพรบ.ประชามติแล้วกว่าหนึ่งร้อยราย

ล่าสุด กลุ่มแกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 19 ราย ได้เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เพื่อรับทราบข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป ในวันที่จะมีการเปิดตัวศูนย์ปราบโกง ที่ต้องการติดตามดูการลงประชามติในครั้งนี้ บุคคลสำคัญได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ โดยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวกลับ และมีหมายนัดให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่อีกครั้งในวันที่ 6 กันยายนนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง