ประชาชนไทยกับโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.01
กรุงเทพฯ
160801-th-referendum-620.jpg ชาวบ้านในตำบลสาวอ อำเภอรือเสาะ นราธิวาส เก็บป้ายผ้าที่มีเนื้อความต่อต้านรัฐธรรมนูญ วันที่ 1 ส.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (1 สิงหาคม 2559) นี้ จะเหลือเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และการกลับสู่ประชาธิปไตยของประเทศอีกครั้ง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยอดีตนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และประชาชนหลายกลุ่ม ได้แสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านสื่อต่างๆ พอสมควรแล้ว ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองจะพบว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชามติและร่างรัฐธรรมนูญยังมีน้อย หรือประชาชนบางกลุ่มอาจไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้เลย แม้ว่าจะสามารถดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญจากเว็บไซต์ของ กกต. มาอ่านได้ก็ตาม

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยแทนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไป โดยร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประกอบด้วยกฎหมาย 261 มาตรา และกฎหมายเฉพาะกาลอีก 18 มาตรา ที่จะมีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปี

รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

และมีประเด็นคำถามเพิ่มเติม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และมีวาระ 5 ปี 250 คน) มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน) ซึ่งมีผลต่อการที่สามารถให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

จากผลการสำรวจความคิดเห็นที่เปิดเผย ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า ร้อยละ 48.4 ของกลุ่มตัวอย่างประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 2,810 คน ระบุว่า “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ 7.7 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ” ร้อยละ 35.4 ระบุว่า “ไม่แน่ใจ” และร้อยละ 8.5 ระบุว่า “งดออกเสียง”

ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ประชามติเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,813 คน ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2559 พบว่า มีผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 85%  ยังไม่ตัดสินใจ 6%  ผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 5% และอื่น ๆ 3% และยังได้ถามความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามเพิ่มเติมเรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. จากผู้แสดงความคิดเห็น 1,623 คน พบว่า มีผู้ไม่เห็นชอบคำถามเพิ่มเติม 93%  ยังไม่ตัดสินใจ 4%  มีผู้เห็นชอบคำถามเพิ่มเติม 3%  และอื่นๆ 4%

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ผ่านเฟซบุคส่วนตัวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีหลายปัญหา และ “ถูกเขียนภายใต้อำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย จึงเห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

ส่วนนักธุรกิจอย่างเช่น นายสมชัย แสนอินทร์ กลับมองว่า ที่ผ่านมานักการเมืองที่คอร์รัปชันกลับใช้ระบอบประชาธิปไตยบังหน้า เพื่อโกงกินโดยไม่ได้มีระบบการตรวจคานอำนาจที่มีประสิทธิภาพ

“ผมจะไปโหวตรับ เพราะว่านักการเมืองไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่เปิดโอกาสให้โกงกินแล้วเอาเงินที่โกงมาเล่นการเมือง” นายสมชัยกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ประชาชนบางส่วนยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยอมรับต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ประชาชนส่วนมากยังมีข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญน้อย ส่วนใหญ่ได้ข้อมูลจากนักการเมือง หรือผู้นำกลุ่มการเมืองที่ตนเองชอบ ดังนั้น การประกาศจุดยืนของนักการเมืองจึงเหมือนเป็นการชี้นำประชาชน จึงเห็นว่านักการเมืองไม่ควรประกาศจุดยืน

“ใครจะรับหรือไม่รับร่างฯ ก็ไม่ควรออกมาพูดผ่านสื่อ เก็บไว้ในใจจะดีกว่า เพราะการชี้นำแบบนี้มันก็เหมือนกับเผด็จการที่ต้องการให้ทุกคนทำตามตัวเอง” นายชาติชายกล่าว

และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศว่าจะอุดหนุนงบประมาณในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในทุกจังหวัด โดยจะให้มีการเชิญทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่เห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญมาแสดงความคิดเห็น แต่ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงพยายามที่จะจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่

โดยในวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่จังหวัดขอนแก่น กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ และประชาธิปไตยใหม่-อีสาน ถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ห้ามไม่ให้จัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ” ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย แม้ผู้จัดยืนยันว่าจะดำเนินการต่อ แต่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก็ได้ตัดน้ำ-ไฟฟ้า และปลดป้ายรณรงค์

อย่างไรก็ตาม ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และในอีกหลายจังหวัด จะมีการจัดการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญในวันที่อังคารที่ 2 สิงหาคมนี้

มือมืดสามจังหวัดชายแดนใต้ป่วนประชามติ

เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม มีการเผยแพร่คลิปความยาว 2 นาที ที่มีเนื้อหาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้พี่น้องมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยภาษาไทยภาคกลาง มีการแชร์บนสื่อ ออนไลน์ แอพพลิเคชันไลน์ และเฟซบุค

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ พบข้อมูลว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ พบข้อมูลว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอดีต ส.ส. กลุ่มวาดะห์ ทำคลิปเสียงและข้อความภาพปลุกระดมให้ประชาชนไทยที่นับถือศาสนามุสลิมลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ด้วยเหตุผลคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะทำให้ศาสนาพุทธยิ่งใหญ่กว่าศาสนาอื่น ๆ และทำให้ศาสนาอิสลามได้รับผลกระทบในเชิงของการปฏิบัติศาสนกิจได้

ในวันถัดมา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ แกนนำกลุ่มวาดะห์ กล่าวว่า “ เรื่องนี้มองว่าเป็นการใส่ร้ายมากกว่า คงไม่มีจริง ยืนยันว่ากลุ่มวาดะห์ไม่ได้เป็นคนทำคลิปเสียงนี้ออกมา เพราะเรามีกติกาและเคารพกฎหมาย”

“ผมก็ฟังว่า จะมีการทำให้ศาสนาอิสลามมีปัญหาต่างๆ แต่ก็คิดว่าเกินความจริงไป ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้มีถึงขนาดนั้น” นายอารีเพ็ญกล่าวเพิ่มเติม

และในวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส รับแจ้ง มีการแขวนป้ายผ้า และพ่นสีสเปรย์บนถนน และตามป้ายบอกสถานที่ มีข้อความ ว่า "รัฐธรรมนูญไทย" พร้อมเขียนสัญลักษณ์กากบาท ไม่เอารัฐธรรมนูญ ในพื้นที่จำนวน 20 จุด ซึ่งหน่วยความมั่นคงในพื้นที่มั่นใจว่าเป็นการก่อกวนลักษณะต่อต้านรัฐธรรมนูญไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง