ผู้อพยพเมือง ในเมืองหลวงดิ้นรนเพื่อประทังชีวิตรอดขณะรอสัมภาษณ์ไปประเทศที่สาม

โดย สำนักข่าวเอพี
2015.03.02
TH-refugees-620-March 2015 ผู้อพยพชาวปากีสถานนั่งพักอยู่ในห้องพักชั่วคราวหลังจากได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2554
เอเอฟพี

ครอบครัวชาวคริสต์จากปากีสถานครอบครัวนี้ เป็นครอบครัวชนชั้นกลางในประเทศของตน แต่จดหมายขู่ฆ่าที่แนบมาพร้อมด้วยกระสุนสามนัดทำให้ทั้งครอบครัวต้องทิ้งทรัพย์สมบัติเพื่ออพยพเพื่อความปลอดภัย

ทั้งสามีภรรยาชาวปากีสถานคู่นี้ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว โดยสามีทำธุรกิจขนย้ายสิ่งของ ส่วนภรรยาเป็นครูสอนศิลปะ โดยในประเทศบ้านเกิดของตน เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นต์สามห้องนอน มีห้องครัวที่ดูทันสมัยและมีเพลย์สเตชั่นให้เด็กๆ เล่น ซึ่งสองสามีภรรยาและเพื่อนๆ ช่วยกันดำเนินงานโรงเรียนเพื่อการกุศลสำหรับเด็กที่ขาดแคลน

ตอนเช้าวันหนึ่งใน ปี พ.ศ. 2556 มีจดหมายที่เซ็นกำกับจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสอดผ่านประตูสำนักงานที่โรงเรียนโดยมีข้อความว่า “ขอให้หยุดสอนศาสนาแก่เด็กมุสลิม มิฉะนั้นเราจะยิงคุณและลูกๆ ของคุณ”
สิบวันต่อมา ทางโรงเรียนก็ได้รับคำขู่อีกครั้ง ครั้งนี้ มีการแนบกระสุนมาด้วยสามนัด อาสาสมัครที่ทำงานที่โรงเรียนจึงได้ไปแจ้งความกับตำรวจ

เรื่องราวของสองสามีภรรยาคู่นี้ มีหลักฐานยืนยันทั้งโดยเอกสารและบุคคลที่รู้เรื่องราวที่สำนักข่าวเอพีได้รับข้อมูลมา เขาเหล่านั้นกล่าวว่า ทางโรงเรียนไม่ได้สอนศาสนาให้แก่เด็กมุสลิมแต่อย่างใด

ปัจจุบันนี้ ครอบครัวชาวปากีสถานคู่นี้ พักอาศัยอยู่ในห้องพักที่ไม่สภาพไม่ค่อยดีนักในกรุงเทพ โดยที่เด็กๆ ได้นอนบนเตียงแต่พ่อแม่ต้องนอนบนพื้น และหุงหาอาหารด้วยเตาแก๊สที่ระเบียงเล็กๆ

ด้วยเหตุที่เป็นบุคคลเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง ทั้งหมดต้องหลบซ่อนและประทังชีวิตด้วยการทำงานที่คนอื่นไม่ทำ และได้รับเงินบริจาคจำนวนหนึ่งให้พอดำรงชีวิต เด็กๆ ที่มีอายุระดับชั้นประถมทั้งหมด ไม่สามารถไปโรงเรียนได้และต้องใช้เวลาทั้งวันอยู่ในห้อง
“เราเพียงแค่ต้องการรักษาชีวิตพวกเราไว้ให้ได้” ผู้เป็นพ่อกล่าว โดยมีข้อแม้ว่าห้ามเปิดเผยชื่อของตน เนื่องจากว่าวีซ่าได้ขาดอายุแล้ว “เราไม่รู้อะไรเลยเมื่อเรามาถึง ตอนนี้เราเพียงแค่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด”

ปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้น

นี่คือชีวิตของผู้หลบหนีของผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนถึงสิบสี่ล้านชีวิตที่ทางสำนักงานด้านผู้อพยพขององค์การสหประชาชาติได้ให้ความคุ้มครองอยู่ และมากกว่าครึ่งของจำนวนนี้ ไม่ได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพอย่างที่ควรเป็น

มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั่วทั้งเอเชีย จากอินเดียถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค และมี “ผู้อพยพเมือง” จำนวนมากกว่าครึ่งล้านคน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ

การเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้อพยพเมืองสร้างความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้กับประเทศเจ้าบ้าน อย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งในอดีตได้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดน แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย ไม่ได้ให้การรับรองความถูกต้องของผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพ ไม่ได้เซ็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้อพยพ

โดยปกติแล้ว การได้มาซึ่งวีซ่านักท่องเที่ยวไทยนั้น เป็นเรื่องง่ายมาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตัวเลขผู้ลี้ภัยในไทย จึงได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่กว่า 8,000 ราย ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา อ้างอิงตามตัวเลขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หลายๆ คนต้องตกใจที่รู้ว่าจะโดนจับ เมื่อวีซ่าขาดอายุ เขาหวังว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ จะให้ความช่วยเหลือได้ แต่ผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้อพยพบอกว่า โดยปกติตำรวจไทย จะไม่สนใจหนังสือ รับรองสถานะบุคคลที่น่าเป็นห่วง (persons of concern)ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้อพยพ 1951 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพ ซึ่งมาเลเซียและอินโดนีเซียเองก็ไม่ได้ลงนามเช่นกัน โดยที่ทั้งสองประเทศมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่จำนวนนับพันคน ผู้อพยพเหล่านี้ ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้ภาวะจำกัด

มิเรล กิราร์ด ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ในประเทศไทยกล่าวว่า “นี่คืออนาคต เราต้องให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่อาศัยในสภาพแวดล้อมของชุมชนเมือง“

โล่งอกแต่แล้วต้องเผชิญกับความกังวล

กลุ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ กล่าวว่า ผู้นับถือศาสนาอื่นในประเทศปากีสถานได้ถูกประทุษร้ายมากขึ้น ไม่เพียงแค่ผู้นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้นับถือศาสนาฮินดู  อาห์มาดิส  หรือชาวมุสลิมนิกายอื่นที่ ถูกปฏิเสธโดยมุสลิมนิกายหลัก แม้ว่ายังไม่มีใครโดนประหารในข้อหาดูหมิ่นพระผู้เป็นเจ้า แต่กฎหมายการห้ามละเมิดศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามบุคคลต่างศาสนา หรือใช้ในการก่อ การประท้วงที่มีความรุนแรง

ฟารุค ซาอีฟ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในกรุงเทพ กล่าวว่าชนกลุ่มน้อยทางศาสนา จำนวนประมาณ 12,000 คน ได้อพยพหลบหนีออกจากปากีสถาน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009

สองสามีภรรยาคู่นี้  ต้องหลบซ่อนอยู่เป็นเดือน หลังจากนั้นก็เก็บกระเป๋าขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินเที่ยงคืน เพื่อบินมายังกรุงเทพ เขาเลือกบินมายังประเทศไทย เพราะเพื่อนๆ บอกว่า การขอวีซ่านักท่องเที่ยวนั้นง่ายมาก และด้วยเหตุผลที่ว่าชาวคริสต์อื่นๆ ก็ได้บินมาก่อนแล้ว

แต่เมื่อเขาถึงกรุงเทพ ความโล่งอกกลับกลายเป็นความกังวล ผู้เป็นพ่อ ได้ไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย แต่กลับต้องตกใจเพราะว่า เขาต้องรออีกถึงสองปี คือต้องรอถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2015 กว่าที่จะได้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งเป็นเพียงแค่การสัมภาษณ์ว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้อพยพหรือไม่ สำหรับผู้ที่มาถึงรุ่นหลังๆเขาเหล่านั้น ต้องรอถึงสามปี


มิเรล กิราร์ด กล่าวว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์  มีเจ้าหน้าที่หกสิบกว่าคนที่ต้องรับฟังเรื่องราวและตรวจสอบผู้ลี้ภัยจำนวนหลายพันคน และพิจารณาว่าตรงตามกฏเกณฑ์ของผู้อพยพที่ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวต่อการประทุษร้ายจริงหรือไม่ แต่ละกรณีต้องมีการตรวจสอบและคัดแยกพวกที่ฉกฉวยโอกาสจากระบบนี้ออกไป เช่น พวกที่เดินทางมาโดยการช่วยเหลือของกลุ่มค้ามนุษย์

มิเรล กิราร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องเข้มงวดในการที่จะรับรองว่าใครเป็นผู้อพยพที่จริงหรือว่าไม่ใช่”

สำหรับคนที่ต้องรอสัมภาษณ์แล้ว เงินคือเรื่องใหญ่

หลังจากที่เงินเก็บพร่องลงไป ครอบครัวชาวปากีสถานดังกล่าว ต้องไปขอความช่วยเหลือจากโบสต์คริสต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ จนในที่สุด มีอยู่ที่หนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือเดือนละ 100 ดอลล่าร์

ผู้เป็นแม่ ได้งานสอนภาษาอังกฤษให้เด็กและมีรายได้เดือนละแปดพันบาท ซึ่งเพียงพอในการชำระค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ และพอเจียดไปซื้อหาอาหารได้บ้าง
ส่วนผู้เป็นพ่อ ไม่มีงานทำอยู่หลายเดือน และเพิ่งได้งานที่ศูนย์เด็กเล็ก แต่นั่นหมายความว่า ลูกของเขาทั้งสามคนต้องอยู่กันโดยลำพังทั้งวันที่อพาร์ทเม้นต์ และยังหมายความว่า ตัวพ่อและแม่ อาจจะโดนจับในข้อหาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

“เมื่อผมไปทำงาน ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะได้กลับมาเห็นหน้าลูกอีกหรือเปล่า” ผู้เป็นพ่อกล่าว แต่ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ครอบครัวนี้จะไม่กลับไปปากีสถาน
“เราจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามเหมือนเดิม ฉันไม่ยอมที่จะสังเวยชีวิตลูกๆ ของฉันเช่นนั้น” ผู้เป็นแม่กล่าว

ผู้เป็นพ่อกล่าวว่า เขาไม่มีทางเลือก แต่ต้องรอกระบวนการที่ล่าช้าของยูเอ็นเอชซีอาร์จนถึงเวลาเริ่มต้น

“เราต้องการไปยังที่ที่ชีวิตของเราจะปลอดภัย และมีเสรีภาพบ้าง” ผู้เป็นพ่อกล่าวพร้อมกับถอนหายใจ


รายงานโดย สำนักข่าวเอพี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง