ศาลปกครองเชียงใหม่ยกฟ้องประยุทธ์ละเลยแก้ปัญหาฝุ่นควัน
2023.03.29
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่ วินิจฉัยให้ยกฟ้องกรณีที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีละเลยไม่แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และดูแลสุขภาพประชาชน โดยศาลชี้ว่า ปัจจุบันปัญหาฝุ่นยังไม่ใช่สาธารณภัยร้ายแรง
ขณะเดียวกัน ค่าฝุ่นในจังหวัดภาคเหนือยังอยู่ในระดับกระทบต่อสุขภาพ ด้านภาครัฐเตรียมประสานประเทศเพื่อนบ้านร่วมแก้ไขปัญหา
ศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำวินิจฉัย คดีหมายเลขดำที่ ส.1/2566 ซึ่ง นายภูมิ วชรเจริญผลิตผล ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ กรณีที่ค่าฝุ่นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณเกินมาตรฐานจนถือเป็นสาธารณภัยร้ายแรง ซึ่งศาลได้ไต่สวนคดีนี้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะมีคำวินิจฉัยในวันอังคารนี้
“เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย
“การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (นายกรัฐมนตรี) ไม่ออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ พิพากษายกฟ้อง” คำวินิจฉัย ระบุ
นับตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึง ต้นปี 2566 เป็นต้นมา สภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภาคเหนืออื่น ๆ อยู่ในระดับวิกฤต มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 เชียงใหม่ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีสภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก ด้วยค่า PM2.5 ระดับ 212 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ล.บม.) ขณะที่ค่า PM2.5 ที่ไม่กระทบสุขภาพของไทยต้องไม่เกิน 50 มคก./ล.บม. ส่วนค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกต้องไม่เกิน 25 มคก./ล.บม.
กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า ค่า PM2.5 ของจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือยังคงวิกฤตอยู่ โดยค่าสูงสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ 303 มคก./ล.บม. รองลงมาเป็น อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 301 มคก./ล.บม. อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 286 มคก./ล.บม. ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 100 มคก./ล.บม.
ด้าน กิ่ง (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทชาวเชียงใหม่ อายุ 50 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองมีสุขภาพแย่ลง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาฝุ่นควัน
“จู่ ๆ ก็มีเลือดกำเดาไหลหลังจากออกไปนอกบ้าน และใส่หน้ากากชั้นเดียว อาจจะเป็นเพราะฝุ่น PM2.5 คิดว่า ฝุ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย พื้นที่ของนายทุนด้วย เพราะชาวบ้านเขาไม่ค่อยเผาซากพืซหรือป่าแล้ว เพราะลูกหลานในพื้นที่ของเขาต้องออกมาดับไฟเอง” กิ่งกล่าว
“เราประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้มาก ได้แต่ไปประท้วงแล้วก็พยายามอยู่แต่ในอาคาร อารมณ์มันหม่น ๆ สูดหายใจได้ไม่เต็มปอด เหมือนไม่ได้อาศัยบนโลกปกติ ลูกก็ป่วย เพราะเป็นภูมิแพ้ บางครั้งมีน้ำมูก เหมือนเป็นหวัดตลอดเวลา” นายภาคภูมิ (สงวนนามสกุล) พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 38 ปี อาศัยอยู่อำเภอแม่สาย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
รัฐขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านงดเผาป่า แต้ไร้ผล
ในวันพุธนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยว่า ในพื้นที่ประเทศไทย และเพื่อนบ้านยังพบจุดความร้อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของฝุ่นควันจำนวนมาก โดยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 พบจุดความร้อนในประเทศไทย 4,433 จุด พม่าขึ้นนำอยู่ที่ 4,894 จุด, สปป.ลาว 4,548 จุด, กัมพูชา 701 จุด, เวียดนาม 190 จุด และ มาเลเซีย 36 จุด สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ แม่ฮ่องสอน 588 จุด น่าน 569 จุด และ เชียงใหม่ 488 จุด
ต่อการแก้ปัญหาฝุ่น พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้มีการทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
“ดำเนินการไปแล้ว ประสานไปแล้ว ทำเรื่องอะไรไปแล้ว ผมก็ยืนยัน ผมก็ลงนามไปให้ ต้องขอความร่วมมือในระดับรัฐบาล แต่ละประเทศมันก็ไม่เหมือนกันเท่าไหร่ ก็ต้องขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการเกษตรกรรม การเผาวัชพืชยังเยอะอยู่ ก็ขอความร่วมมือให้มากที่สุด เกษตรกรไทยก็คงต้องช่วยกันให้มากกว่าเดิม ทำอะไรก็คำนึงถึงส่วนรวมเขาบ้างนะจ๊ะ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชน
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนผ่านทางเลขาธิการอาเซียนโดยตลอด เพื่อขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่มีพื้นที่อยู่ในต่างประเทศ
“เราทำหนังสือขอความร่วมมือเพื่อให้เลขาธิการอาเซียนทำหนังสือไปยังรัฐบาลต่าง ๆ มีการทำหนังสือร้องเรียน และหนังสือโต้แย้งไปทุกระยะ ซึ่งเป็นผลบ้าง ไม่เป็นผลบ้าง และในทุกเวทีที่มีการประชุมระดับนานาชาติ ผมและกระทรวงทรัพยากรฯ เราเดินหน้าเรียกร้องไปทุกครั้ง” นายวราวุธ กล่าว