แอมเนสตี้ ยืนยันทำงานสิทธิมนุษยชนในไทยต่อ แม้มีเสียงขับไล่

กลุ่มป้องสถาบันชี้ องค์กรสิทธิฯ สนับสนุนนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสถาบันฯ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.02.16
กรุงเทพฯ
แอมเนสตี้ ยืนยันทำงานสิทธิมนุษยชนในไทยต่อ แม้มีเสียงขับไล่ กลุ่มรักสถาบันฯ ถือป้ายประท้วงเพื่อขับไล่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกจากไทย ที่กรุงเทพฯ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
เอเอฟพี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จะเดินหน้าที่งานปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป แม้จะมีการรณรงค์รวมรายชื่อขับไล่แอมเนสตี้ ออกจากประเทศไทยโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล ฐานสนับสนุนการประท้วงต่อต้านสถาบันเบื้องสูง โดยกลุ่มเยาวชนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่มประชาชนที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน, อาชีวะปกป้องสถาบัน, ศรีสุริโยทัยปกป้องสถาบัน และ ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน รวมถึง นายเสกสกล อัตถาวงษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อให้ขับไล่แอมเนสตี้ ออกจากประเทศไทย และต่อมาทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะทำการตรวจสอบแอมเนสตี้

“ถ้าผมดำเนินการขับเคลื่อนไล่มันไม่ได้ เอามันออกนอกประเทศไม่ได้ เอาองค์กร… นี้ให้หยุดจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันไม่ได้ ให้หยุดที่มันจะทำลายแผ่นดินไม่ได้ ทำร้ายบ้านเมืองไม่ได้ ถ้าไล่มันออกไม่ได้ ผมออกเองครับ แต่ผมไม่ได้ออกนอกประเทศนะ ผมจะออกจากตำแหน่งเพื่อมาขับเคลื่อนร่วมกับพวกเราทุกคน” นายเสกสกล กล่าวในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ข้างทำเนียบรัฐบาล

นายไคย์ล วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ การดำเนินการของรัฐต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และตอบสนองต่อพันธกรณีของรัฐบาล เพื่อประกันและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออก

“เราให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ต่อทางการเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ทำได้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน เราจะยังคงดำเนินงานเช่นนี้ต่อไปอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ต่อกรณีที่มีการรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ และการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมจะตอบคำถามที่รัฐบาลมีเกี่ยวกับการทำงานของเราในประเทศไทยต่อไป” นายไคอ์ล กล่าว

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 โดยนายปีเตอร์ เบนเนนสัน นักกฎหมายชาวอังกฤษ ปี 2520 แอมเนสตี้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ จากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ เริ่มในประเทศไทย เมื่อปี 2536 และจดทะเบียนดำเนินงานในไทยใน 10 ปีต่อมา

“ด้วยการรณรงค์เคลื่อนไหวระดับโลกที่มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศและสมาชิกใน 150 ประเทศและเขตปกครอง ไม่ว่าเราจะดำเนินการที่ใด งานของเรายังคงเหมือนเดิม คือ การป้องกัน ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ บริษัท และอื่น ๆ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ” นายไคย์ล วอร์ด กล่าวในวันพุธนี้

ต่อมาเดือนมกราคม 2565 นายเสกสกลได้ระบุว่าสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 ล้านคนที่ต้องการให้ขับไล่แอมเนสตี้ออกจากประเทศไทยแล้ว

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อนายเสกสกลเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ และความคืบหน้าการเคลื่อนไหวขับไล่แอมเนสตี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ด้านนายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศคาซัคสถาน และอดีตรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเคลื่อนไหวขับไล่องค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น แอมเนสตี้จะไม่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย และไม่สามารถลดการถูกวิพากษ์-วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนได้

“เรื่องแอมเนสตี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ฉลาดเลย ของฝ่ายรัฐ และต้องตำหนิกระทรวงต่างประเทศด้วยที่ไม่ออกมาให้ความเห็นหรือแนะนำรัฐบาลว่า การทำแบบนี้มันส่งผลเสียหายอย่างมาก เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชน จะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเราดูตกต่ำ กระทบด้านเศรษฐกิจ เพราะอาจทำให้นักลงทุนไม่อยากเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ประเทศดูเป็นเผด็จการมากขึ้น”

“ถ้าไล่เขาออกไปสำเร็จก็ยิ่งแย่กับสถานการณ์ประเทศไทย ยิ่งเขาออกไปอยู่ข้างนอก ยิ่งจะวิพากษ์วิจารณ์เราอย่างหนักมากขึ้น” นายรัศม์ กล่าว

แอมเนสตี้ ได้ยื่นต่ออายุใบอนุญาตขององค์กรฯ

ในวันอังคารที่ผ่านมา นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า แอมเนสตี้ได้ยื่นต่ออายุใบอนุญาตดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย หลังจากที่ใบอนุญาตเดิมหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม 2565 โดยกระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณา และระบุว่าแอมเนสตี้ ยังมิได้ส่งรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรมา ตามที่กรมการจัดหางานร้องขอ

การขับไล่แอมเนสตี้เกิดขึ้นก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบในวันที่ 4 มกราคม 2565 แนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... แม้ก่อนหน้านั้นมี องค์กรภาคประชาสังคมของไทยและต่างชาติ รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนรวม 47 องค์กรและบุคคล และแอมเนสตี้ ทำหนังสือเปิดผนึกถึง ครม. คัดค้านการออกร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากเกินไป และอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกขององค์กร และประชาชนด้วย

นายไคย์ล ยังระบุว่า “การต่อต้านแอมเนสตี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ รัฐบาลกำลังผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ซึ่งแอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ และรับฟังความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งเห็นว่า การโจมตีแอมเนสตี้เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่ทางการไทยมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยลง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง