นักสิทธิเรียกร้องไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.10.10
กรุงเทพฯ
171010-TH-deathpenalty-1000.jpg เจ้าหน้าที่เรือนจำเตรียมนักโทษชาย (นอนคาดผ้าปิดตา) ในเรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี วันที่ 12 ธันวาคม 2546
เอเอฟพี

ในวันยกเลิกโทษประหารสากล (10 ตุลาคม 2560) นี้  องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์รณรงค์ให้ทั่วโลกและประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตจะส่งเสริมค่านิยมการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ด้านกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุ รัฐกำลังพยายามศึกษาเพื่อปรับลดโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์ร่วม สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิในอนาคต และปฎิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UPR) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า จะเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตด้วย

“เครือข่ายฯ เชื่อว่าโทษประหารชีวิต เป็นการกระทำความรุนแรงที่โหดร้าย ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับการประหารชีวิตเท่ากับ รัฐส่งเสริมและสร้างความชอบธรรมให้สังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา” แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

“เห็นว่าการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตผู้กระทำผิดอาชญากรรมที่ร้ายแรงเป็นโทษที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเกือบทุกด้านของผู้กระทำผิดถือเป็นการลงโทษที่สามารถป้องปรามอาชญากรรม และได้สัดส่วนกับความผิดอาญาทุกประเภทแล้ว และหากใช้โทษจำคุกอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สังคมไทยตระหนักถึง คุณค่าแห่งชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่หันกลับไปใช้วิธีการรุนแรงได้อย่างแท้จริง” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์

แอมเนสตี้ยังได้เปิดเผยสถานการณ์โทษประหารชีวิต และการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2559 ว่า มี 141 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโลกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ออกมาประกาศว่า การประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในศตวรรษที่ 21 ปลายปี 2559 มี 117 ประเทศร่วมลงนามสนับสนุนข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ในประชาคมอาเซียน ประเทศกัมพูชา และฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ขณะที่ลาว เมียนมา และบรูไน ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (ไม่มีการประหารชีวิตประชาชนมากกว่า 10 ปีติดต่อกัน)

โทษประหารชีวิตกับสังคมไทย

นายสมชาย หอมลออ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความคิดต่อการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหาร ผ่านเบนาร์นิวส์ว่า การยกเลิกโทษประหารจะเป็นการส่งเสริมให้สังคมเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลดปริมาณอาชญากรรมด้วยเช่นกัน

“เราไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารทันที แต่ให้ทำอย่างมีขั้นตอน เช่น กฎหมายใหม่ไม่ควรมีโทษประหารชีวิต คดีความผิดบางความผิด ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง ก็ไม่ควรจะเป็นโทษประหารชีวิต เช่น โทษเกี่ยวกับยาเสพติด หรือแม้แต่เกี่ยวกับทุจริต เพราะโทษประหารชีวิต เป็นโทษที่ใช้กับการฆาตกรรม โดยเฉพาะอย่าง การฆาตกรรมต่อเนื่อง เราไม่ได้หมายความว่า ยกเลิกโทษไปเลย แต่เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกอัตราสูง และคนเหล่านี้ต้องตรวจสอบตลอดเวลาว่าได้กลับตัวจริงๆ มิเช่นนั้นก็จะต้องไม่ได้รับการลดโทษ” นายสมชายกล่าว

“เราต้องการที่จะส่งเสริมให้สังคมเห็นคุณค่าของสิทธิในชีวิต หรือคุณค่าในชีวิต โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ ซึ่งถ้ายังมีโทษประหารชีวิต ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมค่านิยมนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมลดอาชญากรรม และสงบสุข เรามีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่กำหนดว่าจะดำเนินการเพื่อลดโทษประหารชีวิต เราไม่ได้ทำตามที่เราได้สัญญาไว้ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และไม่ได้ทำตามแผนของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้ามาก” นายสมชายกล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า กรมฯพยายามศึกษา และดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่กำหนดให้ ลดการใช้โทษประหารอยู่ แต่กระบวนการต้องมีการปรึกษาและศึกษาอย่างละเอียด ทำให้ยังไม่สามารถยกเลิกได้ทั้งหมดในทันที

“การทำงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพศึกษาพบว่า กฎหมายไทยมี 63 ประเภทคดีที่มีฐานความผิดเป็นโทษประหารชีวิตเพียงฐานเดียว เรากำลังหารือกันว่า ประเภทใดควรเพิ่มฐานความผิดให้ศาลใช้ดุลพินิจ เช่น เพิ่มให้มีฐานความผิดประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการศึกษา” นางปิติกาญจน์กล่าว

“กฎหมายไทยระบุว่า ผู้ต้องโทษประหารชีวิตต้องยืนทูลเกล้าฯถวายฎีกาอันชั้นหนึ่ง หลังจากผ่านการพิจารณาของ 3 ศาลมาแล้ว ซึ่งเมื่อยื่นถวาย และมีถึงวันมงคลสำคัญก็มีการพระราชทานอภัยโทษ ทำให้หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ใช้การลงโทษประหารชีวิต” นางปิติกาญจน์ระบุ

การนำโทษประหารมาใช้ในสังคมไทย

โทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.1895 โดยได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาคดีอาญาและการลงทัณฑ์ หรือ พระอัยการอาญาหลวง ผู้กระทำความผิดในคดีมุ่งร้ายต่อราชวงศ์ เบียดเบียนประชาชนให้ทุกข์ยาก ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้ต้องโทษ ขัดขืนการจับกุม ออกหมายเท็จ เปลี่ยนแปลงคำให้การ และละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการจะถูกตัดสินลงโทษด้วยการตัดศีรษะ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อโทษประหารชีวิตเช่นกัน ในปี พ.ศ.2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุติโทษประหารชีวิต แต่ได้มีการลงความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลายกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ควรเปลี่ยนรูปแบบการประหารชีวิตเป็นวิธีการที่มีความทรมานน้อยกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ จึงได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 13 ให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า

โทษประหารชีวิตของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2546 เมื่อรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายห้ามตัดสินลงโทษประหารชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิต สำหรับผู้เยาว์ นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 16 พ.ศ.2546 มาตรา 19 กำหนดให้เปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต จากการยิงเป้า เป็นฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นเลือดแทน และในปีเดียวกันนั้นมีการประหารชีวิตนักโทษ 4 ราย (ในคดียาเสพติด 3 ราย และคดีฆ่าคนตาย 1 ราย)

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย และวิธีการประหารชีวิตในกฎหมายไทย แต่ประเทศไทยยังคงมีจุดยืนในการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และในปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยออกเสียงคัดค้านมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทั่วโลกพักการประหารชีวิต และถัดมาในปี พ.ศ.2552 นักค้ายาเสพติดสองรายถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งนับเป็นคดีประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดสองรายแรกของประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีการประหารชีวิตอีกเลย จนถึงปัจจุบันรวมเวลาได้ 8 ปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง