ทนายสมชายหาย 14 ปี: กฎหมายไม่คืบหน้า ยังมีผู้ถูกอุ้มและทรมาน
2018.03.12
กรุงเทพฯ

ในวันครบรอบ 14 ปี ของการที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ถูกบังคับให้สูญหายไป ภรรยาของทนายสมชาย กล่าวว่า ทางครอบครัวยังไม่เคยได้รับความยุติธรรม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายไม่ถูกลงโทษ รวมทั้ง ยังมีประชาชนที่ถูกบังคับสูญหายหรือถูกทรมานอยู่ ในขณะที่ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย กล่าวในงาน 14 ปีสมชายหายสังคมไทยได้อะไร ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสหประชาชาติ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นว่า ครอบครัวนีละไพจิตร ต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทนายสมชาย กล้าที่จะพูดความจริง และหวังอย่างยิ่งว่าการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมของตนเอง จะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิเสรีภาพ
“สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำก็คือ ปกป้องเหยื่อไม่ให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว ไม่ให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ เห็นว่าผ่านมา 14 ปี เราน่าจะต้องแสดงความจริงใจต่อกัน พูดความจริงต่อกัน” นางอังคณากล่าว
“สำหรับดิฉันก็คงเหมือนเหยื่อรายอื่นๆ ที่จนชั่วชีวิตก็ไม่อาจได้พบความยุติธรรม แต่เชื่อมั่นว่าตลอด 14 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ และเห็นคุณค่าของการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน เชื่อมั่นว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทางกับเรามากขึ้น เพื่อบอกกับรัฐว่าจะต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป หวังว่ากรณีคนหายทุกกรณีจะได้รับการใส่ใจ” นางอังคณากล่าวเพิ่มเติม
แม้ว่าสื่อมวลชน ได้ติดตามรายงานข่าวการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร อย่างใกล้ขิด แต่ตลอดหลายปีๆ ที่ผ่านมา ยังพบว่ามีนักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือประชาชน ถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายคน นางอังคณากล่าว
ทนายสมชาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในขณะที่เขาเป็นทนายความให้กลุ่มผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบ จนกระทั่งปี 2558 ศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวทนายสมชาย เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
สิบปีถัดมา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไประหว่างที่กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมขึ้นเป็นพยานในศาลคดีที่ชาวกะเหรี่ยงฟ้องร้องเอาผิดกรมอุทยานแห่งชาติ จากการเผาไล่ที่บ้านชาวกะเหรี่ยงในปี 2554 และศาลจังหวัดเพชรบุรี ยกฟ้องคดีที่ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี ฟ้องร้องเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้นายพอละจีหายตัวไป
ในวันที่ 16 เมษายน 2559 นายเด่น คำแหล้ หายตัวไป หลังจากออกไปหาของป่าใกล้บ้านพักใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หลังจากเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น พยายามเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิที่ดินให้กับตนเองและคนในชุมชน
ในส่วนการซ้อมทรมานประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ยังมีผู้กล่าวพาดพิงถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลอยู่เช่นกัน โดยนายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ซึ่งเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตนเองถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างถูกควบคุมตัวในปี 2551
นายอิสมาแอ เต๊ะ ซึ่งได้มาร่วมงานในวันนี้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในฐานะเหยื่อและภาคประชาชนที่ทำงานเพื่อต่อต้านการซ้อมทรมาน อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการซ้อมทรมาน เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
“จากข้อมูลที่รู้การซ้อมทรมานยังมีเกิดขึ้น ไม่ใช่จะยุติ อย่างน้อยๆ รัฐต้องรับฟังความจริงมีอยู่ในพื้นที่ การซ้อมทรมานเนี่ย เพราะรัฐใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ก็อาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อชาวบ้านถูกควบคุมตัว แต่ชาวบ้านไม่กล้าจะพูด แม้แต่คนทำงานอย่างผมก็ถูกฟ้อง” นายอิสมาแอกล่าว
ภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้ประเทศไทยออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการกระทำเหล่านี้ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยจะกำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับคนให้สูญหายและซ้อมทรมาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และในปี 2559 ครม. ได้ผ่านความเห็นชอบให้ออกกฎหมายดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ถูกบังคับใช้ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนถึงความล่าช้า
นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กฎหมายดังกล่าวมิได้ถูกชะลอ หรือหยุดการพิจารณา เพียงแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“ตอนนี้ กฎหมายอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวบรวมเสร็จก็เข้าเว็บไซต์ให้ประชาชนทั้งหมดแสดงความคิดเห็น ก็ส่งเข้า ครม. ในเดือนเมษายน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า กฎหมายตัวเต็มจะเสร็จเมื่อไหร่ ระหว่างรอกฎหมายท่านนายกฯ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดการเรื่องการทรมานและอุ้มหาย ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็เร่งทำกฎหมายกันไป” นางนงภรณ์กล่าว
จากการรวบรวมของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า นับตั้งแต่ปี 2538 ในประเทศไทยมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกฆาตกรรม หรือทำให้สูญหายมาแล้วอย่างน้อย 36 ราย