ชัชชาติสั่งตรวจตลาดสัตว์เลี้ยง หลังเหตุไฟไหม้จตุจักรสัตว์ตายกว่า 5 พันชีวิต
2024.06.13
กรุงเทพฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงเร่งทำการสำรวจกิจการค้าขายสัตว์ทั้งหมดที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ หลังเมื่อวันอังคารเกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ จตุจักร โซนจำหน่ายสัตว์เลี้ยง และมีสัตว์ตายรวมทั้งหมด 5,343 ตัว โดยระบุว่า ถ้าจะให้ขายต้องมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงจะอยู่ในที่ที่มีคุณภาพ ด้านสมาคมพิทักษ์สัตว์ระบุ สาเหตุเกิดจากการไม่บังคับกฎหมายให้เข้มงวด และควรจัดการให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่เหมาะสม
“จากการรายงานสรุปพบพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 118 ร้าน และมีอีก 15 ร้าน ที่ได้รับผลกระทบบางส่วน หลังเกิดเหตุมีสัตว์ตายกว่า 5,000 ตัว เช่น ปลา 3,500 ตัว, สุนัข 37 ตัว, ลิง 2 ตัว, นก 1,382 ตัว, กระรอก 30 ตัว, เต่า 100 ตัว, แมว 25 ตัว, แร็กคูน 10 ตัว, ไก่ 217 ตัว และมีสัตว์อื่นอีกที่ไม่สามารถระบุจำนวนได้” นายชัชชาติ กล่าวกับสื่อมวลชน
“ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญในการกลับมาเข้มงวดเรื่องการป้องกันอัคคีภัย เพราะหากมองผู้เสียหายที่แท้จริงคือ สัตว์ สำหรับตลาดที่เกิดเหตุจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในขณะนี้ต้องระงับการเปิดตลาดใหม่ หากจะเปิด รฟท.ต้องมาขออนุญาต กทม.ก่อน ในส่วนของผู้ค้าที่จะทำกิจการค้าสัตว์เลี้ยงต้องขออนุญาตประกอบกิจการเช่นกัน” นายชัชชาติ ระบุ
ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ กทม. อาจพิจารณาเงื่อนไข สำหรับการอนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยง เพิ่มในด้านความปลอดภัย และการป้องกันอัคคีภัยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก โดยกิจการค้าสัตว์เลี้ยงมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2555 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุเพิ่มเติมว่าปัจจุบันพบแหล่งมีการค้าสัตว์เลี้ยงจุดใหญ่ 2 แห่ง ที่ตลาดสนามหลวง 2 เขตทวีวัฒนา และจตุจักร 2 เขตมีนบุรี โดยผู้ว่าฯ ยืนยันว่าจะเข้าไปกำชับให้ผู้ประกอบการดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้เปิดให้ขออนุญาตได้ถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้
เหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ตลาดศรีสมรัตน์ จตุจักร ในโซนจำหน่ายสัตว์เลี้ยง โดยมีร้านค้า 118 คูหา พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร ได้รับแจ้งเหตุเวลา 04.00 น. และเจ้าหน้าที่ใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเพื่อควบคุมเพลิง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มีสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัข แมว กระต่าย งู นก ปลากัด และไก่ ตายเป็นจำนวนมาก
โดยหลังเกิดเหตุ นางภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร แจ้งให้เจ้าของร้านที่ได้รับผลกระทบเข้าแจ้งความกับตำรวจ เพื่อที่จะออกใบรับรองให้กับผู้ที่เช่าแผง จากนั้นจึงจะมาที่สำนักงานเขต เพื่อรับเงินเยียวยาเป็นทุนประกอบอาชีพไม่เกิน 10,400 บาทต่อร้าน
ด้านนายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มี 3 มุมมอง ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่ควรต้องถอดบทเรียนคือ มุมมองด้านกฎหมาย มุมมองจากฝ่ายอนุรักษ์ และมุมมองเรื่องสวัสดิภาพสัตว์
“ด้านกฎหมายจะเห็นว่าที่ค้าขายสัตว์กันอยู่ตอนนี้ มีเบาะแสว่าส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต บางร้านก็เป็นสัตว์นำเข้าหรือเพาะเลี้ยงแบบผิดกฎหมาย แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบ มองจากฝ่ายอนุรักษ์ ก็จะพบว่า การค้าสัตว์ป่า ต่อให้มีช่องให้ค้าขายได้ก็ไม่สมควร โดยเฉพาะสัตว์ป่าต่างแดน เพราะจะเกิดปัญหากับระบบนิเวศ” นายโรเจอร์ ระบุ
นายโรเจอร์ กล่าวต่อว่ามุมมองเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเห็นแล้วว่าการไม่จัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามกฎหมาย ไม่เพียงมีผลต่อสัตว์ แต่มีผลกับธุรกิจของผู้ค้าเองด้วย ถือว่าโชคดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต ไม่เช่นนั้นจะยิ่งกว่านี้ เพราะร้านเหล่านี้ก็พยายามต่อต้านกฎระเบียบมาตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าไป
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้แน่นอน คืออย่าวัวหายแล้วล้อมคอก นี่ไม่ใช่ไฟไหม้ครั้งแรกที่จตุจักร และที่สำคัญคือมันไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เกิดจากการไม่บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด เป็นเครื่องยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเรามันหย่อนยานมาก” นายโรเจอร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในวันเดียวกันนายบุญญกฤต ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า การทำกิจการค้าสัตว์ต้องขออนุญาต แต่พบว่าสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายบางชนิดไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. การจัดการสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น ปลา เต่า กระรอกบางชนิด
“เราอาจต้องหารือกับหน่วยงานอื่นที่จะเข้ามาร่วมดูแล เช่น กรมอุทยานฯ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) สำหรับในตลาดที่เกิดเหตุจากข้อมูลเบื้องต้นมีผู้ค้าบางรายเท่านั้นที่ขออนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีใบอนุญาต” นายบุญญกฤต ระบุ
ขณะที่ น.ส. ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้สำรวจกิจการค้าสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ ข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 มกราคม 2567 มีร้านค้าสัตว์เลี้ยงทั้งหมด 233 แห่ง ที่ได้สำรวจ มีใบขออนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยงเพียง 30 ร้านเท่านั้น จึงเชื่อว่ายังมีอีกหลายร้านที่ยังไม่มีการสำรวจ