นายกฯ สั่งคุมเข้มชายแดน หลังพบลักลอบเข้าเมืองเพิ่ม
2021.10.26
กรุงเทพฯ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมพื้นที่ชายแดนเป็นพิเศษ เนื่องจากเกรงว่า การเข้าเมืองผิดกฎหมายจะเป็นสาเหตุให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง หลังพบว่า เฉพาะเดือนตุลาคม 2564 มีผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเกือบ 6 พันคน ด้านนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการชี้ รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติกับผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างมีมนุษยธรรม โดยเฉพาะหากจับกุมและผลักดันชาวเมียนมากลับประเทศ อาจทำให้ได้รับอันตราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับรายงานเรื่องการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้เร่งสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยให้หน่วยลาดตระเวน ลาดตระเวนเส้นทางธรรมชาติรอบแนวชายแดนของประเทศไทยทุกด้าน ที่สำคัญคือ ต้องดำเนินการสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังที่เป็นนายหน้าในการจัดหาแรงงานด้วย เพราะเป็นลักษณะการกระทำผิดเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และอาจเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย” นายธนกร ระบุ
การเปิดเผยของนายธนกร เกิดขึ้นหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2564 พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1-24 ตุลาคม 2564 มีผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตามชายแดนถึง 5,982 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเดือนสิงหาคม และกันยายน 2564 มีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 4,601 คน และ 5,984 คน ตามลำดับ
ด้าน พ.ต.ท. ธวัชชัย เอกบุตร สารวัตรตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์การเข้าเมืองผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการแรงงานในประเทศเพิ่มขึ้น
“กรุงเทพฯ มีความต้องการแรงงานค่อนข้างสูง ก็จะมีออเดอร์เข้ามา และมีการดำเนินการเป็นขบวนการ ขณะที่บางส่วนก็มีเครือข่ายญาติ หรือเพื่อนชักชวนให้เข้ามา โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 24-25 ตุลาคมนี้ สามารถจับกุมชาวกะเหรี่ยง เมียนมา ไทใหญ่ ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวม 28 ราย และมีผู้ชักนำ 1 ราย หลังจากนี้จะสืบสวน ลงโทษ และผลักดันกลับประเทศต้นทาง” พ.ต.ท. ธวัชชัย กล่าวผ่านโทรศัพท์
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี สามารถจับกุมขบวนการลักลอบพาแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 175 คน ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จากการสืบสวนเบื้องต้น ผู้นำพาแรงงานข้ามชาติระบุว่า จะนำแรงงานกลุ่มนี้ไปส่งให้นายจ้างที่จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพฯ โดยได้รับค่าจ้าง 15,000 บาทต่อครั้งในการขนส่ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ให้ออกเงื่อนไขการต่ออายุใบอนุญาติทำงาน สำหรับแรงงานกัมพูชา เมียนมา ลาว ให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยต้องยื่นเอกสาร ตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์ ภายในเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม นักสิทธิแรงงานข้ามชาติชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเอกสารเพื่อนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบมีราคาต่อหัวแพง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียน
“การขึ้นทะเบียนแรงงานต้องจ่าย 1.5-2 หมื่นบาทต่อคน แรงงาน และนายจ้างไม่ค่อยมีเงิน เลยไม่ได้ขึ้น[ทะเบียน] รัฐควรนำแรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนทันทีที่ตรวจพบ เพราะถึงผลักดันเขากลับ เชื่อว่าเขาอาจต้องกลับมาอีกอยู่ดี เพราะเขาต้องการงานและเงิน” นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศปิดชายแดน ทำให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านพรมแดนธรรมชาติ โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ศบค. ระบุว่า มีผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายถึง 5.52 หมื่นคน
นักสิทธิฯ : อย่าผลักดันคนเมียนมากลับไปเจออันตราย
ต่อมาตรการเข้มงวดกับผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย น.ส. พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ควรผลักดันคนลักลอบเข้าเมืองกลับประเทศ
“นับตั้งแต่มีการสู้รบในพม่า มีคนที่หนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งท่าทีของหน่วยงานรัฐไทยไม่ยินดีกับเรื่องนี้ และในเดือนนี้มีการจับกุมชาวเมียนมา และอาจผลักดันกลับประเทศ ซึ่งการส่งพวกเขากลับ จะทำให้ต้องเผชิญกับอันตรายอย่างแน่นอน รัฐบาลไทยควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา หรือให้หน่วยงานที่มีความพร้อมรับผิดชอบดูแล แทนการใช้มาตรการความมั่นคงอย่างเดียว” น.ส. พรสุข กล่าว
ตามข้อมูลของ ศบค. เดือนตุลาคม 2564 มีคนเมียนมาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และถูกจับกุมตัว 2,417 คน โดยเป็นการเข้าเมืองในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก เป็นส่วนใหญ่
ด้าน น.ส. อุไร ยังชีพสุจริต นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า “ไทยจะเปิดประเทศจึงมีความต้องการแรงงาน แต่รัฐกลับใช้กฎหมายเคร่งครัดจนเกิดผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงชายแดน ถ้ารัฐใช้หลักมนุษยธรรม ควรสร้างกระบวนการดูแลคนข้ามชาติ นำคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานของเรา หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยเหลือภาคธุรกิจในประเทศไทยได้มากเช่นกัน” น.ส. อุไร ระบุ
กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติรวม 2.34 ล้านคน ขณะที่ LPN ประเมินว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยน่าจะมีมากถึง 4 ล้านคน
สหประชาชาติ รายงานว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร นำไปสู่การสู้รบภายในประเทศ ซึ่งทหารเมียนมาได้ทำการจับกุม และทำลายบ้านเรือนของประชาชน โดยเชื่อว่า ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2.18 แสนคน
ขณะที่ ในวันอังคารนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 7,706 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดคือ กรุงเทพฯ ปัตตานี สงขลา และนราธิวาสตามลำดับ โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 66 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมเป็น 1.86 ล้านราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสม 1.88 หมื่นราย และสามารถฉีดวัคซีนแล้ว 71.23 ล้านโดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 28.7 ล้านราย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน