เศรษฐาแจงงบฯ 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น
2024.01.03
กรุงเทพฯ

การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เริ่มขึ้นแล้วในวันพุธนี้ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงชี้แจงงบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท คาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัว 2.5% ขณะที่ฝ่ายค้านมุ่งเป้าโจมตีการจัดสรรงบที่ขาดยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทาง โดยชี้ว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมงบประมาณสำหรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และงบดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล เพราะหวังกู้เงิน 5 แสนล้านมาทำโครงการ
“การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างความเจริญเติบโตของประเทศ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐาระบุด้วยว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ด้านผู้นำฝ่ายค้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายต่อที่ประชุมสภา ระบุว่าภาพรวมของการตั้งวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ไม่มียุทธศาสตร์และเป้าหมาย ไม่ยึดโยงกับเป้าหมายและนโยบาย โดยพบเป็นโครงการเดิมที่จับโยงกับเป้าหมายใหม่ และเคลมว่าเป็นโครงการของรัฐบาล
“เราจะพบว่ามันเป็นงบประมาณที่เป็นเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วนบอกว่าจะให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเราทราบกันดีว่าถ้าจะไปสู่จุดนั้น ในปีนี้คงจะต้องมีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่เราก็ไม่เห็นการตั้งงบประมาณรอไว้สำหรับเรื่องนี้” นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านอภิปราย
“นโยบายเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนที่แถลงนโยบายนั้น ท่านนายกฯ กับรัฐบาลก็ยืนยันบอกว่าจะไม่กู้ จะบริหารงบประมาณปกติในนโยบายเรือธงอันนี้ แต่วันนี้ก็ชัดเจนแล้วนะครับว่า ไม่มีการตั้งงบ” ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 จะมีการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2567
สำหรับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 เป็น 9.3 % หรือ 2.95 แสนล้านบาท โดยกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดคือ มหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.57 % รองลงมาคือ ศึกษาธิการ 3.28 แสนล้านบาท เพิ่ม 0.31 % กระทรวงการคลัง 3.27 แสนล้านบาท เพิ่ม 14.73 % และกระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท เพิ่ม 1.96 % ตามลำดับ
ในประเด็นชายแดนภาคใต้ ร่างฯ ปี 2567 จัดสรรงบตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 6.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4 ร้อยล้านบาทจากปี 2566 ซึ่งในช่วงปี 2548-2566 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ 4.92 แสนล้านบาท แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 2.22 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7.54 พันคน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 1.40 หมื่นชีวิต
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ชี้ว่างบสำหรับการลงทุนภายใต้กระทรวงกลาโหม 4.45 หมื่นล้านบาท หรือ 22.92 % ของงบกระทรวงทั้งหมดควรชะลอ เพื่อดำเนินโครงการอื่น
“งบของกระทรวงกลาโหม งบโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นถ้าชะลอได้ให้ชะลอ งบโครงการที่เกิดขึ้นก่อนปี 2567 อยากจะให้ขยายระยะเวลาทำโครงการ ถ้าเกิดว่าเรือดำน้ำก็ไม่เสร็จ ถ้ายังสร้างไม่เสร็จขยายระยะเวลาในการดำเนินโครงการออกไป เอาเงินส่วนนี้มาตอบสนองนโยบายรัฐบาลในปี 2567” นายฐากร กล่าว
สำหรับโครงการที่ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ คือ การแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับประชาชน 50 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือนและมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท โดยเริ่มแจกในเดือนพฤษภาคม 2567 ใช้งบประมาณทั้งหมด 5 แสนล้านบาท โดยการออก พ.ร.บ. เงินกู้ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่