ศาล รธน. นัดอ่านคำวินิจฉัยวาระนายกฯ 8 ปี 30 ก.ย. นี้
2022.09.14
กรุงเทพ

ในวันพุธนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวันอ่านคำวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ในวันที่ 30 กันยายน นี้ หลังจากที่เห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอในการพิจารณาสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยผ่านจดหมายข่าวในวันนี้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเรื่องคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ผลการประชุมแล้ว
“ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหรือลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15 นาฬิกา ณ ห้องพิจารณาคดีชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ” ตอนหนึ่งของจดหมายข่าวระบุ
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ... เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าจะให้ความเคารพต่อผลการพิจารณาของศาลฯ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นใด” นายอนุชากล่าว
นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในฐานะผู้ร้อง ยังไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน
กรณีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 17 สิงหาคม 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยแรกในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับวินิจฉัยกรณีดังกล่าว และสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวจนกว่าจะมีผลวินิจฉัย จากนั้นในวันที่ 1 กันยายน 2565 พล.อ. ประยุทธ์ได้ส่งเอกสารชี้แจงความยาว 23 หน้าสำหรับกรณีดังกล่าว ซึ่งศาลได้เรียกเอกสารเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 และฝ่ายผู้ร้องได้ยื่นเอกสารตามที่ศาลสั่งแล้ว
ต่อกรณีเดียวกัน นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ยิ่งศาลมีคำวินิจฉัยกรณีนี้ช้า ยิ่งทำให้ประชาชนมองศาลในแง่ลบ
“การดีเลย์คำวินิจฉัยของศาล ถ้ามองจากสายตาคนที่ไม่ได้ตามเรื่องนี้ใกล้ชิด อาจเข้าใจผิดได้เลยว่าศาลเองไม่มีความมั่นใจที่จะตัดสิน หรือยังมีดีลที่ยังตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายแล้วเชื่อว่า คำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมาต้องมีลักษณะที่อ่านแล้วจูงใจ และใช้เหตุผลอย่างมีหลักการในแบบของเขา แต่นักนิติศาสตร์หลายท่านก็เคยอธิบายแล้วว่า ถ้าจะไม่นับการเป็นนายกฯ ครั้งแรกช่วงรัฐธรรมนูญ 2557 ก็เท่ากับทำให้เวลานั้นประเทศอยู่ในสุญญากาศ ทั้งที่ความเป็นจริงก็มีนายกฯ ชัดเจน” นายปิยะพงษ์กล่าว
สำหรับการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ หนึ่ง นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565, สอง นับวาระตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 6 เมษายน 2568 และสาม นับวาระตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อปี 2562 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2570
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช จากกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน