รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แยกบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.09.10
กรุงเทพ
รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แยกบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ กลุ่มผู้ประท้วงขี่จักรยานยนต์ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แสดงความต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 และปล่อยนักโทษการเมือง วันที่ 10 กันยายน 2564
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ออกเสียงเห็นชอบรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะปรับรูปแบบการเลือกตั้งไปใช้บัตร 2 ใบ โดยแยก ส.ส. เขต ออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และปรับเปลี่ยนการคิดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ ซึ่งผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใหญ่  

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่สาม โดยมีเสียงเห็นชอบ 472 เสียง (แบ่งเป็น ส.ส. 323 เสียง และ ส.ว. 149 เสียง) ไม่เห็นชอบ 33 เสียง (เป็น ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง) และงดออกเสียง 187 เสียง (เป็น ส.ส. 121 เสียง และ ส.ว. 66 เสียง) 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคที่เสนอญัตติร่างแก้ไขฯ ได้กล่าวถึงสาระของร่างแก้ไขฯ ครั้งนี้ว่า 

“ประเด็นที่หนึ่ง ก็คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ สอง ปรับจำนวนผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต หรือ 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน และ สาม ก็คือในเรื่องการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีอยู่ 100 คนนั้น ก็ให้นับคะแนนบัตรใบที่สองที่ลงคะแนนเลือกพรรค แล้วนำมาเทียบสัดส่วนกับผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 100 คน” นายจุรินทร์ ระบุในแถลงการณ์ 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นับจากวันนี้จะต้องรอ 15 วัน ก่อนนำร่างแก้ไขฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนี้สมาชิกรัฐสภาสามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่ถ้าไม่มีปัญหาใดเมื่อในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย จะถือว่าร่างแก้ไขฯ นี้ผ่านความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ 

ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ให้ทัศนะต่อผลการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขฯ ครั้งนี้ว่า ไม่ได้เหนือความคาดหมาย และจะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่ 

“ระบบบัตรสองใบเอื้อกับพรรคใหญ่อยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าสองพรรคใหญ่โหวตเห็นชอบ เพราะมันทำให้พรรคใหญ่ที่มีกำลังส่งผู้สมัครลงได้ทุกเขตเลือกตั้ง ทำให้มีโอกาสได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า แต่การแก้ครั้งนี้ยังเป็นการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ และ คสช. เพราะ ส.ว. ยังมีอำนาจเหมือนเดิม” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ฝ่ายค้าน-ผู้ประท้วง ยังต้องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดย รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผ่านการลงประชามติ ในปี 2559 ซึ่งได้รับเสียงเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง และเห็นชอบบทเฉพาะกาลอายุ 5 ปี ที่ให้สิทธิ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 15.1 ล้านเสียง อย่างไรก็ตาม การลงประชามติครั้งนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านรณรงค์ หรือเผยแพร่ข้อมูลแย้งได้อย่างอิสระ 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส.ส. ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเคยยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2563 ซึ่งสามารถผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 และ 2 มาได้ แต่เมื่อถึงวาระที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาออกเสียงไม่เห็นชอบทำให้ร่างทั้งหมดตกไป ในเดือนมิถุนายน 2564 จึงมีการยื่นญัตติใหม่ 13 ร่าง แต่ผ่านความเห็นชอบวาระที่ 1 เพียง 1 ร่าง ที่นำมาสู่การพิจารณาและผ่านวาระ 3 ในครั้งนี้ 

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าก้าวไกล ซึ่งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดได้แถลงที่รัฐสภาว่า พรรคได้งดออกเสียงในร่างแก้ไขนี้ เนื่องจากพรรคไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพราะถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ทางพรรคเห็นด้วยกับระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ 

“เราเห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ส.ส. ก็หนึ่งใบ พรรคก็หนึ่งใบ ชัดเจนดี สนับสนุนให้มีการคำนวณแบบที่โปร่งใสเป็นธรรมและทำให้การเมืองเข้มแข็ง” นายพิธา กล่าว 

ส่วน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ริเริ่มการชุมนุม “คาร์ม็อบ” เพื่อขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยกับผลลัพธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกในอนาคต 

“ผมคิดว่ารูปแบบบัตรสองใบสอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นกติกาที่มีความเข้าใจง่าย และถูกต้องกว่าระบบที่ผ่านมาเมื่อรอบที่แล้ว ซึ่งมันเกิดปัญหา และมี ส.ส. ปัดเศษ ที่ถือว่ามันไม่ยุติธรรม เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐบาลเห็นตรงกัน แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชน” นายสมบัติ กล่าว 

ด้าน นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ จากกลุ่มมวลชนอาสา (We Volunteer) กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกในอนาคต เพื่อเพิ่มอำนาจโดยตรงของประชาชน คือ เพิ่มอำนาจให้ ส.ส. และต้องให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเองหวังว่า ส.ส. ที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วจะร่างกฎหมายที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ในอนาคต 

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง