นายกฯ ร้องขอให้ประชาชนอยู่กับบ้านแทนการล็อกดาวน์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.01.04
กรุงเทพฯ
นายกฯ ร้องขอให้ประชาชนอยู่กับบ้านแทนการล็อกดาวน์ พนักงานทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถไฟ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 มกราคม 2564
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 03:30 PM EST 2021-01-05

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนงดการออกจากบ้านเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อลดการติดเชื้อและช่วยให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง รวมทั้งได้ประกาศปิดโรงเรียนไปจนถึงกลางเดือนมกราคม ขณะที่ในวันนี้ มีการประกาศผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 745 ราย ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อภายในหนึ่งวันมากที่สุดตั้งแต่เคยเก็บสถิติมา

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 745 ราย มาจากการตรวจเชื้อเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 577 ราย ติดเชื้อในประเทศ 152 ราย และในสถานกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสม 8,439 ราย และเสียชีวิตสะสม รวม 65 ราย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ขณะที่มีการระบาดครั้งใหม่ รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เรียกร้องให้ประชาชนงดการออกจากบ้านแทน

“เราก็ไม่อยากไปล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะก็รู้ว่าปัญหามันคืออะไร เพราะฉะนั้นท่านล็อกดาวน์ตัวเองให้ได้บ้างไหม มันอยู่ที่ทุกคน ถ้าเราไม่อยากไปติดเชื้อก็อยู่บ้าน 14-15 วัน ถ้าทุกคนคิดแบบนี้มันก็ปลอดภัย คัดกรองได้ง่ายขึ้น ถ้าทุกคนจะไปมาหาสู่กันทั้งหมด ผมตรวจสอบคน 70 ล้านไม่ไหว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า วัคซีน 2 ล้านโดสแรก จะถูกส่งเข้าประเทศไทย และฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 3 เดือนที่จะถึงนี้

“ผมคิดว่า คาดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน เราจะได้เข้ามา 2 ล้านโดสก่อน เตรียมแผนว่าจะฉีดให้ใครบ้าง ตามหลักความเร่งด่วน แล้วที่เหลืออีก 26 ล้านโดส จะเข้ามาในระยะต่อไป และผมให้เพิ่มเติมไปอีก 35 ล้านโดส เพราะฉะนั้นคาดว่าจะฉีดให้คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เราได้เกือบทั้งประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัท ผลิตวัคซีน สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยการเซ็นสัญญาครั้งนี้ ใช้วงเงิน 6,049,723,117 บาท สำหรับการจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคน ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า จะสามารถใช้จริงได้ภายในกลางปี 2564

โฆษก ศบค. ระบุยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเพราะการตรวจเชิงรุก

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบมากขึ้นเป็นพิเศษในวันนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการการตรวจหาเชื้อเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

“ตัวเลขยืนยันสะสมอยู่ที่ 8,439 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,379 ราย อยู่ในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวรวมแล้ว 2,037 ราย ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 2,060 จะเห็นตัวเลขว่าเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็น 65 คนแล้ว ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 0.77 (อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ป่วย 100 คน) มีผู้ติดเชื้ออยู่ใน 54 จังหวัด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้านมาตรการป้องกันโรค ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศ 28 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม โดยให้ปิดสถานศึกษาทุกแห่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือให้งดการเดินทางข้ามจังหวัด และจะมีการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้าพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษาลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ได้กำหนด 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดแล้ว โดยทั่วประเทศจะต้องดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค 8 ข้อโดยสรุป ดังนี้ 1. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดห้ามเปิดสถานศึกษาให้ทำการศึกษาแบบออนไลน์ 2. ห้ามจัดกิจกรรมที่เสี่ยงในการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นการรวมผู้คน 3. ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ปิดสถานบันเทิง และสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 4. เงื่อนไขการเปิดดำเนินการสถานที่ต่าง ๆ จะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ 5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามาตรการต่างๆตามความเหมาะสมของพื้นที่ 6. ให้หลีกเลี่ยงหรืองดเดินทางข้ามจังหวัด โดยจะมีการตรวจคัดกรองหากผ่านพื้นที่ควบคุมสูงสุด 7. ให้มีการทำงานที่บ้าน และลดผู้ปฏิบัติงาน และ 8. คณะกรรมการเฉพาะกิจสามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการผ่อนคลายมาตรการได้ตามสถานการณ์

ทั้งนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 06.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยยังไม่มีกำหนดสิ้นสุด สำหรับ 28 จังหวัด ที่ ศบค. ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดประกอบด้วย ภาคกลาง กรุงเทพฯ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม, ภาคตะวันตก เพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก สระแก้ว ระยอง ปราจีนบุรี  ชลบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และภาคใต้ ระนอง ชุมพร ขณะที่ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่มีการกำหนดจังหวัดควบคุมสูงสุด

ในการแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จะได้เสนอไปยังกระทรวงต่างประเทศให้ชะลอเที่ยวบินที่จะเดินทางมาจากประเทศอังกฤษ หลังจากพบผู้โดยสารชาวอังกฤษ 4 ราย ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 และถูกกักตัวที่สถานกักกันโรค เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (B.1.1.7) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในประเทศอังกฤษ ซึ่งเชื้อโควิด-19 ชนิดนี้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่สามารถกระจายตัว และแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อตัวเดิม

หลายอาชีพได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกสองแล้ว

ดร.ยุพเทพ บุณยฤทธิ์รักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีอนุสรณ์ศึกษา อายุ 35 ปี จังหวัดขอนแก่น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเรียนออนไลน์ยังไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และมีครอบครัวที่ไม่พร้อม การสั่งปิดสถานศึกษาจึงอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียน

“การเรียนการสอนแบบออนไลน์เทียบไม่ได้กับการสอนตัวต่อตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะอนุบาล และประถม ประสิทธิภาพน้อยลงกว่าเดิม เพราะนักเรียนบางคนเข้าถึงเทคโนโลยี แต่บางคนก็เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เรียนตามไม่ทัน ต้องใช้ความรับผิดชอบของตัวเด็กและผู้ปกครองมากขึ้น ยิ่งอนุบาลทำไม่ได้เลย ต้องใช้การออนไลน์สอนผู้ปกครองแล้วให้ไปสอนลูกต่ออีกที ขณะที่บางบ้านผู้ปกครองก็ไม่ว่างที่จะดูแลลูกระหว่างเรียนออนไลน์” ดร.ยุพเทพ กล่าว

ขณะที่ นายธนู (สงวนนามสกุล) ทนายความอายุ 51 ปี ชาวกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีคดีที่ถูกเลื่อนจำนวนมาก และไม่ได้รับค่าตอบแทนตรงเวลา

“ช่วงแรกปีที่แล้ว ศาลไม่มีความชัดเจนเรื่องรูปแบบการจัดการ ทำให้คดีถูกเลื่อนออกไป พอท้ายปีเริ่มมีการเปิดพิจารณาเหมือนเดิม ทำให้คดีที่ค้างอยู่แน่นมาก แต่เงินจ่ายไม่ตรงเวลา เพราะลูกความก็ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ระบาดรอบนี้ ศาลก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ถ้ามีการหยุดพิจารณาอีก จะกระทบต่อรายได้ทนาย” นายธนู กล่าว

ด้าน นายโชติ วงศ์สามัญ เจ้าของธุรกิจค้าส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ต่างประเทศ และสถานบันเทิง อายุ 33 ปี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ธุรกิจของเขาเป็นประเภทที่ได้รับผลกระทบประเภทแรกๆ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เพราะ รัฐบาลมักสั่งให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

“ปีที่แล้วล็อกดาวน์ช่วงต้นปีรายได้หายไปร่วม 7-8 ล้าน ทั้งร้านขายส่งและร้านนั่ง ผมมีร้านเบียร์ อยู่เกือบ 10 ร้านในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ทันที ไม่ได้รับการชดเชยอะไรเลย พอท้ายปีรายได้เริ่มจะกลับมา บางร้านก็ถูกให้ปิดแล้ว สินค้าที่ค้างอยู่มากมาย ใครจะรับผิดชอบ ทำไมต้องบอกให้เราเสียสละฝ่ายเดียว จะขายออนไลน์ตอนนี้ เบียร์ เหล้าก็ห้ามขายออนไลน์” นายโชติ กล่าว

* แก้ไขข้อมูลก่อนหน้า ที่รายงานว่า "ที่เหลืออีก 24 ล้านโดส" 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง