ศบค. คลายมาตรการโควิด-19 ร้านอาหารและโรงเรียน พื้นที่กทม.-ปริมณฑล
2021.01.29
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ในวันศุกร์นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้คลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้วโดยในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกเว้นสมุทรสาคร ให้กลับมาเปิดเรียนได้ แต่ผสมการเรียนออนไลน์และแบบปกติ และให้รับประทานอาหารในร้านอาหารได้ถึง 23.00 น. ขณะที่สมุทรสาคร ยังให้เข้มงวดกับการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ โดยต้องแจ้งขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐ
หลังจากที่มีการระบาดของโควิดระลอกสอง เมื่อปลายเดือนธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เปิดเผยหลังการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันศุกร์นี้ว่า ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ในบางพื้นที่เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
“ผ่อนคลายในบรรดาสถานประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นปกติของประชาชนโดยรวม... เรื่องของการเรียนการสอน เรามีทั้งทางออฟไลน์ ออนไลน์ต่าง ๆ อันนี้ก็ให้กระทรวงศึกษาพิจารณาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้แล้ว ก็ขอความร่วมมือด้วยก็พยายามทำให้ทั่วถึงได้มากที่สุด… ผู้ปกครองก็ต้องเหนื่อยหน่อยช่วงนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“จังหวัดที่มีความเข้มข้นดูแลความเข้มงวด ก็เป็นสมุทรสาครเป็นหลัก กรุงเทพมหานครก็เป็นส่วนพื้นที่ติดต่อสมุทรสาคร เราต้องคอนโทรลตรงนี้ให้ได้ แล้วคลี่คลายสถานการณ์ตรงอื่น ก็ระมัดระวังสกัดกั้น ถ้าทุกคนเคารพมาตรการมันจะคลี่คลายโดยเร็ว จะมีสายตรวจในสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น ในสถานที่ที่มีความเสี่ยง ตำรวจทหารต่าง ๆ ตรวจสอบในพื้นที่สถานที่ใดไม่ปฏิบัติตามก็ต้องถูกดำเนินการโดยเด็ดขาด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ประกอบด้วยพื้นที่ควบคุมสุงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ห้างสรรพสินค้า สนามชนไก่-ชนวัว บ่อน สถานบริการนวด สถานศึกษา ร้านเกมส์ ที่ประชุม ที่จัดเลี้ยง ที่จัดแสดงสินค้า และสถานีขนส่งสาธารณะ ให้เปิดตลาด ร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. และงดดื่มสุราในร้าน, ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัยเปิดได้เฉพาะเข้าพักเป็นประจำ, โรงแรมให้มีระบบติดตามตัวผู้เดินทางเข้า-ออกทุกคน และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ
พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี ให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามชนไก่-ชนวัว บ่อน และสถานบริการนวด ร้านอาหารรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. และงดดื่มสุราในร้าน สถานศึกษาให้จัดการสอนแบบผสมออนไลน์-ออฟไลน์ การประชุม-สัมมนาจำกัดผู้ร่วมไม่เกิน 100 คน ห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกชื้อ เปิดได้ตามปกติ
ส่วนที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัว ชาวต่างชาติ 89 คน และคนไทย 22 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดสังสรรค์ดื่มสุรา ในร้านอาหารแห่งหนึ่งบน เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการมั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19
ปัจจุบัน ผู้ต้องหา 83 คนได้รับการประกันตัวแล้ว ขณะที่อีก 28 คนยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.เกาะพงัน โดยหากผู้ต้องหาถูกตัดสินว่าผิดจริง จะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่การจัดการแรงงานข้ามชาติ หากมีความจำเป็นในการเดินทางและเคลื่อนย้าย ให้นายจ้างขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ด้านพื้นที่เฝ้าระวังสูง ให้รับประทานอาหารภายในร้านได้ไม่เกิน 24.00 น. ดื่มสุราภายในร้านได้ และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการสถานที่ต่างๆตามปกติ แต่เคร่งครัดมาตรการควบคุมโควิด-19
นางพิญดา นูรดิน อายุ 41 ปี เจ้าของร้านอาหารย่านทุงครุ กรุงเทพฯ เผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีความคิดที่จะปิดกิจการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยแบกรับหนี้สินไม่ไหว เพราะการปิดร้านช่วงกลางปี 2563 ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งจากญาติสนิท เพื่อประคองร้านให้อยู่ต่อได้
“เดือนหน้าถ้ามีเหตุการณ์แย่ ๆ อีกรอบ คงต้องตัดสินใจจริงจังแล้วว่าจะทำร้านต่อดีมั้ย เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ช่วงเดือนกันยา-ตุลาค่อยดีขึ้นหน่อย เริ่มกลับมาขายได้ การระบาดรอบใหม่นี่จะว่าซวยก็ได้ แต่มันซวยไม่เท่าคนค้าขายบ้าน ๆ ขายในตลาด ริมถนนซวยที่สุด ร้านเราไม่ได้อยู่ในห้างก็โดนสั่งปิดก่อนเพื่อน ร้านในห้างยังขายได้ตามปกติ เราก็งงมาก ทำไมจะสั่งห้าม ก็ห้ามให้หมดสิ” นางพิญดา กล่าวเพิ่มเติม
ในวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันเพิ่ม 802 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 781 ติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 ราย มีตัวเลขสะสมอยู่ที่ 17,023 ราย หายป่วยไปแล้ว 11,396 ราย
วัคซีนแอสตราเซเนกาอาจมาช้า เพราะยูโรเข้มงวดส่งออก
ในวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลพยายามสั่งซื้อเร่งด่วนเพื่อให้ทันฉีดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อาจมีปัญหาล่าช้า
“กำลังกังวลอยู่เรื่องที่อียู (สหภาพยุโรป) เขาจะจำกัดไม่ให้มีการส่งวัคซีนออกมานอกเขตอียู ก็ต้องพยายามเจรจาอยู่ ส่วนของเรา เราได้ทำทุกอย่างหมดแล้ว ถ้ามันจะเป็นปัญหามันเป็นปัญหานอกเหนือการควบคุมของเรา จริง ๆ แผนปกติ วัคซีนเราจะพร้อมในเดือนมิถุนายน ตามที่เราได้สั่งกับแอสตราเซเนกาไว้ จะเริ่มฉีดเดือนมิถุนายน แต่ว่าในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถหาวัคซีนที่ส่งมาถึงประเทศไทยได้ เราก็ใช้ทุกวิถีทางในการเจรจา บางทีวันนี้ได้ พรุ่งนี้บอกติดปัญหาแล้ว ไอ้เอกสารของเขาไม่ผ่านบ้าง หรือเขาออกกฎเกณฑ์ใหม่ อย่างอียูบ้าง” นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ไม่ได้เปิดเผยว่า หากติดปัญหาล่าช้าดังกล่าว วัคซีนจะส่งถึงเมืองไทยและถูกฉีดเข็มแรกได้เมื่อใด โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า วัคซีนเข็มแรกจากบริษัท แอสตราเซเนกา จะถูกฉีดเข็มแรกในประเทศไทยวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564