อย. ขึ้นทะเบียนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนโควิด-19 รายที่ 3 ในไทย
2021.03.25
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า องค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสันแล้ว โดยนับเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการอนุมัติของ อย. รายที่ 3 ของประเทศไทย โดยชี้ว่า จะเพิ่มทางเลือกให้กับเอกชนในการใช้วัคซีน
นายอนุทิน เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้รับการแจ้งจาก นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่าได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 รายที่ 3 แล้ววันนี้
“ท่านเลขาธิการ อย. ท่านโทรศัพท์มาแจ้งผมว่า วันนี้เขาประชุมคณะกรรมการอาหาร และได้อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เราก็มีทางเลือกอีกหนึ่งทางแล้ว เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เราปิดกั้นวัคซีน ไม่ยอมใช้วัคซีนยี่ห้ออื่น… มาไม่ถึง 2 เดือนเราก็อนุมัติให้เรียบร้อย… เพราะฉะนั้นใครสามารถไปเจรจากับ 3 เจ้าเขาได้ แล้วเขายอมขาย ก็ถือว่ามีความชอบธรรมที่จะนำเข้า แต่เขาจะขายหรือเปล่า เราก็ยังไม่ทราบ เพราะว่าเขายังใช้อยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน” นายอนุทิน กล่าว
“จอห์นสันแอนด์จอห์นสันขอเอง เขามีบริษัทในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนเขาจะขายใคร ขายยังไง หรือขายรัฐ ขายเอกชน ตอนนี้ก็ฟรี จุดแข็งของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันคือ 1 เข็มฉีดปุ๊บจบเลย 10 เหรียญ แอสตราเซเนกา 2 เข็ม เข็มละ 5 เหรียญ เพราะฉะนั้นราคาก็คือเท่ากัน แอสตราฯ ส่งมิถุนายนต้นเดือน จอห์นสันโน่นไตรมาส 4” นายอนุทิน ระบุ
นายอนุทิน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมขึ้นทะเบียนให้กับวัคซีนโควิด-19 จากทุกบริษัท หากดำเนินการตามขั้นตอน และได้รับมาตรฐาน อย. และหากบริษัทเอกชนจะติดต่อนำเข้าก็สามารถทำได้ แต่การได้วัคซีนในช่วงเวลานี้อาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากทั่วโลกยังอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดหลายประเทศต้องการวัคซีน อย่างไร สถานการณ์วัคซีนของประเทศไทยถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี
“ตอนนี้เราผลิตเองแล้ว กำลังผลิตของแอสตราเซเนกาที่โ รงงานสยามไบโอไซเอนซ์ปีนึง 200 ล้านโดส มันเหลือพอที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า ต่อให้มีสถานการณ์อย่างไร วัคซีนเข้าถึงประชาชนแน่นอน… มีสถาบันวิจัยทางการแพทย์ หรือองค์การเภสัชกรรม กำลังผลิตวัคซีน อีก 2-3 ชนิด ทดสอบในคนแล้วนะ ฉีดเข้าไปในคน แสดงว่าเขาไปไกล มีแผนสอง แผนสาม แผนสี่ไว้หมด เกินเป้ายอมรับว่า ความรวดเร็ว การพัฒนา การเข้าถึงวัคซีนเกินคาด” นายอนุทิน ระบุ
ในวันเดียวกัน กรมควบคุมโรคเปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 97 ราย ยอดป่วยยืนยันสะสม 28,443 ราย รักษาหายอีก 73 ราย ทำให้มีผู้ป่วยที่กลับบ้านแล้ว 26,946 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 1,405 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 92 ราย
พัฒนาประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 1/2564 ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับรูปแบบสถานกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และการผ่อนคลายกิจกรรมในสถานกักกันโรค เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ทั้งสถานกักกันทางเลือก ที่ให้ผู้กักตัวใช้ห้องฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง ใช้สระว่ายน้ำ ปั่นจักรยานในพื้นที่ปิด และสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพที่ให้มีกิจกรรมในห้องจัดกิจกรรม ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในที่พัก การประชุมทางธุรกิจ การจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ หรือประกวดนางงาม เป็นต้น
รวมทั้ง เห็นชอบหลักการรูปแบบการท่องเที่ยวพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Sand Box) ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี และเชียงคาน เลย โดยการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว สามารถเดินทางมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่มีมาตรการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ และมีระบบติดตามตัว
สธ. พบผู้ป่วยเส้นเลือดโป่งพองในท้อง เสียชีวิตหลังรับวัคซีน เตรียมการสอบสวนโรค
ล่าสุดวันนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กล่าวถึง ผู้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรง ที่พบ 2 ราย โดยหนึ่งในนั้น เนื่องจากมีผู้ป่วยเส้นเลือดในท้องโป่งพอง แตก และเสียชีวิต หลังรับวัคซีน ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ ป่วยโรคเส้นเลือดโป่งพองในท้อง อยู่ระหว่างรับการรักษาอยู่แล้ว ตามสื่อท้องถิ่นระบุ
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โรคนี้มีโอกาสที่เส้นเลือดจะแตกได้ตลอดเวลา และในรายนี้ ได้เกิดขึ้นหลังรับวัคซีน ดังนั้น หากมีอะไรที่เกิดขึ้นระหว่างการรับวัคซีน ก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการเพื่อสอบสวนต่อไป
วานนี้ ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 23 มีนาคม 2564 ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนไปแล้ว 102,050 โดส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 96,188 ราย และรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 ราย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 รวม 1,117,300 โดส แบ่งเป็นของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จากประเทศจีน 1,00,000 โดส และของบริษัท แอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ/สวีเดน 117,300 โดส เริ่มฉีดให้กับประชาชนกลุ่มแรก ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามแผนของรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564
แผนการนำเข้าวัคซีนของไทย คือ 2 ล้านโดส จากซิโนแวค มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส และจากแอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ ครม. เพิ่งอนุมัติงบประมาณการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท จากแอสตราเซเนกา ซึ่งจะทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับฉีดประชาชน 31.5 ล้านคน