องค์กรสิทธิสากลเรียกร้องรัฐยุติการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.03.16
กรุงเทพฯ
องค์กรสิทธิสากลเรียกร้องรัฐยุติการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิ สุธารี วรรณศิริ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และ นาน วิน แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ออกจากศาลอาญา กรุงเทพฯ หลังศาลตัดสินไม่มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท โดยบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นผู้ฟ้องร้อง ภาพเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563
เอเอฟพี

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล เรียกร้องให้ศาลไทยยุติการดำเนินคดี ที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร น.ส. พุทธณี กางกั้น และ น.ส. ธนภรณ์ สาลีผล จากกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน เขียนข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์พาดพิงบริษัท โดยองค์กรสิทธิฯ ชี้ว่ารัฐบาลไม่ควรช่วยให้บริษัทเอกชนปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้

นางเอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ปัจจุบัน คดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทที่ บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2559 ต่อนางอังคณา, น.ส. พุทธณี และ น.ส. ธนภรณ์ ขณะนี้อยู่ในการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ในระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม และ 21 มีนาคม และสืบพยานฝ่ายจำเลย ระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม และ 23-24 พฤษภาคม

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 หลังการไต่สวนมูลฟ้องกว่าสามปี ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นชอบให้รวมคดีที่ฟ้องต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร เข้ากับคดีทั้งหมดที่มีการฟ้องต่อจำเลยทั้งสามคน โดยศาลยังได้กำหนดวันพิจารณาคดีชุดใหม่ตามวันและเวลาข้างต้น

“ศาลไทยควรยกคำร้องเหล่านี้ทันที การพิจารณาคดีนี้และคดีอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เป็นความพยายามที่น่าละอายเพื่อคุกคาม ข่มขู่ และปิดปากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ศาลมีอำนาจอยู่แล้วที่จะยกคำร้องซึ่งเป็นการฟ้องด้วยเจตนาไม่สุจริต และถึงเวลาแล้วที่ศาลจะใช้อำนาจดังกล่าวกับคดีนี้” นางเอมี กล่าว

นางเอมี กล่าวอีกว่า ทางการไทยต้องดำเนินงานที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุณูปการที่มีค่าของพวกเขาต่อสังคม ประเทศไทยไม่อาจเป็นผู้นำด้านธุรกิจได้ หากไม่สามารถป้องกันการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบนี้

“ทางการไทยไม่ควรช่วยบริษัทเอกชนใช้ข้อหาหมิ่นประมาท ปิดปากแรงงานที่เรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการทำงานของตนเอง หรือปิดปากนักปกป้องสิทธิ หรือนักข่าวจากการรายงาน” น.ส. อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า

“กรณีการละเมิดที่เกิดขึ้น ข้อกล่าวหาที่บริษัทฟ้องคดีต่อ นางอังคณา พุทธณี และธนภรณ์ ควรถูกยกเลิกทันที และทางการไทยควรดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยื่นฟ้องกรณีในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต”

บริษัท ธรรมเกษตร ซึ่งทำธุรกิจฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ได้ฟ้องนักปกป้องสิทธิทั้ง 3 คน สืบเนื่องจากที่ทั้งสามได้โพสต์ และโพสต์ซ้ำข้อความ ในโซเชียลมีเดียรวม 28 ข้อความ ซึ่งเป็นการให้กำลังใจกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นที่กำลังถูกฟ้องโดยบริษัทธรรมเกษตร และแนบลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง โดยนางอังคณา คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติ ถูกกล่าวหา 2 กรรม น.ส. พุทธณี ผู้อำนวยการ The Fort ถูกกล่าวหา 21 กรรม และ น.ส. ธนภรณ์ อดีตเจ้าหน้าที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ถูกกล่าวหา 5 กรรม

บริษัทฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกับทั้ง 3 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ซึ่งแต่ละกรรมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ด้าน น.ส. พุทธณี ยืนยันว่า ตนเองไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท หรือโจมตีบริษัท เนื่องจากไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบริษัท

“เราเขียนข้อความไปเพื่อให้กำลังใจอดีตเพื่อนร่วมงานของเราที่ถูกบริษัทฟ้อง และเพื่อสนับสนุนเขาในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และยืนยันหลักการที่ว่าไม่ควรใช้กระบวนการทางกฎหมายมาขัดขวางการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การที่เราถูกฟ้องมันทำให้เราเสียพลังงาน และเสียเวลาไปกับการต่อสู้คดี ครอบครัวและคนรอบข้างต้องเป็นห่วง กระทบต่อความรู้สึกของเราเอง” น.ส. พุทธณี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เราคิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพยายามหาวิธี หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะนำมาใช้ปกป้องการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก เราคิดว่าทางนึงอาจแก้กฎหมายไม่ให้มีการฟ้องหมิ่นประมาททางอาญา เพื่อไม่ให้มีโทษจำคุก ก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาบางส่วนได้” น.ส. พุทธณี ระบุ

ธรรมเกษตรฟ้องนักปกป้องสิทธิหลายคดี

ในปี 2559 แรงงานเมียนมา 14 คน ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนต่างชาติและองค์กรสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า บริษัท ธรรมเกษตร บังคับให้ทำงาน 20 กว่าชั่วโมงต่อวัน ถูกยึดเอกสารประจำตัว และถูกหักเงินเดือน จากนั้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ตัดสินว่า แม้นายจ้างไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่มีการทำผิดเรื่องค่าจ้างจริง ซึ่งบริษัทต้องชดเชยให้แรงงาน 1.7 ล้านบาท

ด้าน บริษัท ธรรมเกษตร ได้ฟ้องร้องแรงงานเมียนมา 14 คน ซึ่งเคยทำงานกับบริษัท ที่ศาลแขวงดอนเมือง โดยกล่าวหาว่าแรงงานเหล่านี้ใช้ข้อความอันเป็นเท็จร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินยกฟ้องแรงงานทั้ง 14 คน เพราะเห็นว่าการร้อง กสม. ของแรงงานทั้งหมดเป็นความจริง และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม และปกป้องสิทธิของตนเอง

อย่างไรก็ตาม บริษัท ธรรมเกษตร ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีกับสื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย 22 คน ใน 37 คดี จากการเขียนข้อความพาดพิงบริษัทต่อกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งคดีบางส่วนยังอยู่ในการพิจารณา ขณะที่บางส่วนศาลได้ตัดสินยกฟ้องไปแล้ว

“การฟ้องคดีของผมเพียงแค่ต้องการปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของผมที่สร้างมาด้วยความยากลำบาก เพราะธุรกิจผมต้องมาพังพินาศจากผู้มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ผมได้รับความเสียหายจากการทำงานของนักปกป้องสิทธิ” นายชาญชัย เพิ่มพล เจ้าของและผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ธรรมเกษตร เคยให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ไว้ในก่อนหน้านี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง