เจ้าหน้าที่เสียชีวิตต่อเนื่องหลังเหตุวิสามัญฯ คนร้ายกลางเดือนก่อน
2023.09.07
ปัตตานี

ในวันพฤหัสบดีนี้ เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารพราน เป็นเหตุให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย ในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์เชื่อว่า ฝ่ายคนร้ายต้องการแก้แค้นให้กับสมาชิกขบวนการที่เสียชีวิตในการปะทะกันเมื่อกลางเดือนที่แล้ว
เหตุการณ์ในวันนี้ นับเป็นการโจมตีเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิต ครั้งที่ 3 นับตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566
พ.อ. ภาคิน เกื้อกูล ผอ.ฉก.ทพ.48 เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อไปรับร่างเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเสียชีวิตในพื้นที่สวนยางพารา ม.7 ต.สากอ อ.สุไหงปาดี หลังจากเกิดเหตุระเบิด เมื่อเวลา 12.35 น.
ผู้เสียชีวิต คือ อส.ทพ. ธนภัทร เหมมณี อายุ 24 ปี เป็น พลยิงเครื่องยิงจรวด ของหน่วยทหารพรานชุดพิทักษ์พื้นที่ กองร้อยทหารพรานที่ 4808 ขณะที่เจ้าหน้าที่อีก 2 นาย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุไหงปาดี
“เหตุเกิดขณะที่ อส.ทพ. ธนภัทร และพวกเดินลาดตระเวนพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารได้แยกย้ายกันเคลียร์พื้นที่เพื่อตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราว ทันใดนั้น อส.ทพ. ธมภัทร ได้เดินไปเหยียบกับระเบิดที่คนร้ายได้แอบไปฝังไว้บริเวณใต้ผิวดิน จนเกิดระเบิดขึ้นส่งผลทำให้ขาทั้ง 2 ข้างของ อส.ทพ. ธนภัทร ขาดและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ” พ.อ. ภาคิน เปิดเผย
หลังเกิดเหตุ พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า “กลุ่มผู้ก่อเหตุมีความพยายามตลอดอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสและจังหวะเข้าก็จะทำ แนวคิดที่จะทำร้ายประชาชนไม่เคยหมด เขาไม่เคยหยุดคิดทำร้ายผู้บริสุทธิ์”
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2566 มีเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9,657 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5,868 ราย (แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2,251 ราย และประชาชน 3,617 ราย) ได้รับบาดเจ็บ 12,657 ราย (แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 6,330 ราย และประชาชน 6,327 ราย)
ขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ระงับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชั่วคราว เพราะประเทศไทยมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่
ตัวเลขของ ศอ.บต. ระบุว่า ในปี 2565 มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่ตรวจสอบแล้วว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์รุนแรงจำนวน 72 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตที่เป็นเจ้าหน้าที่และพลเรือนรวมกัน 30 ราย นับว่าเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นได้พยายามลดการปะทะด้วยอาวุธ ซึ่งเป็นข้อตกลงจากกระบวนการพูดคุยฯ
อย่างไรก็ตาม ในห้วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลับมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 65 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 27 ราย ซึ่งดูเหมือนว่าสถานการณ์รุนแรงจะเกิดถี่ขึ้น นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความไม่สงบ 2 ราย ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566
เพราะให้หลังเพียงวันเดียว 17 สิงหาคม ก็เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีทหารช่างซ่อมบ้านปันสุข พื้นที่ บ.ตะโล๊ะ หมู่ที่ 2 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 4 นาย ซึ่งเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นการตอบโต้เหตุวิสามัญฆาตกรรมในก่อนหน้านั้น
ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม ก็เกิดเหตุคนร้ายลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บ 4 นาย ในพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ด้าน ดร. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น น่าจะมาจากการยิงคนร้ายเสียชีวิตในอำเภอหนองจิก
“คิดว่ามันเป็นการโจมตีเพื่อแก้แค้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ การตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันไม่ใช่เรื่องผิดปกติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายขบวนการใช้เหตุผลทางศาสนามาสนับสนุนการกระทำของฝ่ายตนได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ฝ่ายขบวนการพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือกำลังพลหน่วยรบ แทนที่จะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มักจะตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง” ดร. รุ่งรวี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“คิดว่านี่เป็นพัฒนาการไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นผลพวงโดยอ้อมของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ บีอาร์เอ็นต้องการให้เห็นว่าการต่อสู้ของตนมีความชอบธรรม จึงละเว้นการทำร้ายพลเรือน”