กรรมการสิทธิฯ แนะ กอ.รมน. เลิกการเยี่ยมบ้านญาติผู้ต้องสงสัย

โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันทหารเยี่ยมบ้านด้วยเจตนาที่ดี
มารียัม อัฮหมัด
2022.03.11
ปัตตานี
กรรมการสิทธิฯ แนะ กอ.รมน. เลิกการเยี่ยมบ้านญาติผู้ต้องสงสัย ญาติชาวมุสลิมของผู้ต้องสงสัย 2 รายที่เสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับฝ่ายกองกำลังทหาร ขณะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
เอเอฟพี

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการเยี่ยมบ้านญาติของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิของประชาชน หลังจากที่มีภรรยาอดีตผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงรายหนึ่งร้องเรียน

อย่างไรก็ตาม โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าทหารไปเยี่ยมบ้านประชาชนด้วยเจตนาที่ดี เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงข่าวหลังจากมีการประชุมในสัปดาห์นี้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2563 กสม. ได้รับการร้องเรียนจากสตรีรายหนึ่ง ซึ่งสามีตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี (เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560) ว่าทางครอบครัวรู้สึกกังวลจากการที่เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 เข้าไปเยี่ยมบ้านของตนเองหลายครั้งเพื่อสอบถามเกี่ยวกับสามี แม้ว่าศาลจะได้ยกฟ้องความผิดของสามีไปแล้วก็ตาม และสามีได้เกิดความหวาดกลัวจนได้ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซีย แม้กระนั้น เจ้าหน้าที่ก็ยังมาสอบถามชีวิตประจำวันและขอถ่ายบัตรประชาชนของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องรู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัว

หลังจาก กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติทั่วไปของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าจริง และทำเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและป้องกันอาชญากรรม

“แต่การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นการแทรกแซงหรือการรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย โดยการไปเยี่ยมบ้านของผู้ร้องซึ่งมีแต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยอาวุธครบมือ ย่อมสร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัว” กสม. ระบุ

“ควรยกเลิกแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเครือญาติ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนั้น กสม. ระบุแนวทางที่สองว่า ทางทหารควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจเยี่ยมเครือญาติบุคคลเป้าหมาย โดยให้คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มีความเหมาะสม ได้สัดส่วน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับเครือญาติกลุ่มเป้าหมายในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งได้เสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ในการเข้าตรวจเยี่ยมร่วมกัน และดำเนินการให้เหมาะสม เช่น หากครอบครัวใดมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในบ้าน ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเข้าตรวจเยี่ยมด้วย  

และส่วนแนวทางที่สาม ควรเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีลักษณะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการลดปัญหาผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

ด้าน พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเยี่ยมบ้านของประชาชนโดยเจตนาที่ดี

“กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังเข้าไปเยี่ยมครอบครัวผู้ต้องสงสัย ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีหรือต้องการเข้าไปข่มขู่หรือสร้างความขัดแย้ง ทหารเข้าไปสร้างความเข้าใจ บางโอกาสเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วชาวบ้านเกิดความไม่เข้าใจ มีอารมณ์กราดเกรี้ยว เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้ความอดทนจนถึงที่สุด” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ญาติของผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวกับการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2560 เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมบ้านประชาชนพร้อมอาวุธครบมือย่อมสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน

“ทหารที่เข้ามาใช้อารมณ์ วิธีพูดกับชาวบ้านทำให้รู้ว่าเขาอคติกับชาวบ้าน เขามีปืนเต็มมือ เด็ก ๆ คนแก่เห็นก็กลัว…” ญาติของผู้ต้องสงสัยกล่าวโดยขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย

“คนที่มักสร้างปัญหาในพื้นที่ก็เป็นทหาร หลายครั้งทหารยิงชาวบ้าน พอชาวบ้านโวยก็จ่ายเงิน ข่มขู่เพื่อปิดปาก ถ้าเกิดเหตุจุดจบอยู่ที่จ่ายเงิน ทหารคิดว่าชีวิตคนมีราคาแค่นั้นหรือ ชาวบ้านต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนั้นใช่ไหม การที่เขาไปร้อง กสม. ก็คงเพราะอยากให้เขาช่วยห้าม เผื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกได้”

ตำรวจควบคุมตัวคอเต็บในอำเภอจะนะ หลังให้ข้อมูล กมธ. กฎหมายฯ

ในวันเดียวกันนี้ นายประเสริฐ เหาะโส๊ะ คอเต็บและครูของโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน ในพื้นที่บ้านโคกเค็ต ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังศูนย์พิทักษ์สันติ จังหวัดยะลา ในวันศุกร์นี้ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายประเสริฐเป็นหนึ่งในบุคลกว่า 40 คน ซึ่งถูกซัดทอดว่าเกี่ยวข้องกับเหตุปะทะโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่บ้านโคกเค็ด หมู่ที่ 6 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีคนร้ายเสียชีวิตรวม 3 ราย

โดยการคุมตัวครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจของหมายศาลจังหวัดปัตตานีที่ ฉฉ 1117/2565 ซึ่งมี ร.ต.อ. ไวพจน์ ขุนเกลี้ยง รอง สว.(สอบสวน) สภ.โคกโพธิ์ เป็นผู้ร้องขอ หลังจากที่เมื่อวานี้ นายประเสริฐ ได้พบกับ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ลงพื้นที่จะนะ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุปะทะในครั้งนั้น

“กรณีแบบนี้ตำรวจสามารถออกหมายเรียกมาสอบปากคำได้โดยไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะเร่งประสานงานให้การช่วยเหลือนายประเสริฐ และป้องกันการใช้กฎหมายพิเศษนอกพื้นที่ด้วย และอาจเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต” นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งใน กมธ. กฎหมายฯ ซึ่งได้พบกับนายประเสริฐ เมื่อวันพฤหัสบดีกล่าวกับเบนานิวส์

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลาย ๆ พื้นที่ใน 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา มาตั้งแต่ปี 2548

โดยล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม-19 มิถุนายน 2565 ซึ่งนับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 67 ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลา 7 วัน และในกรณีฉุกเฉินการควบคุมตัวสามารถกระทำได้ไม่ต้องแสดงหมายศาล

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง