แม่ทัพภาคสี่ยุติแผนขุดศพ 'ยาห์รี ดือเลาะ' หลังครอบครัวคัดค้าน

มารียัม อัฮหมัด
2022.12.12
ปัตตานี
แม่ทัพภาคสี่ยุติแผนขุดศพ 'ยาห์รี ดือเลาะ' หลังครอบครัวคัดค้าน เจ้าหน้าที่ทหารพราน (ขวาสุด) เจรจากับกลุ่มญาติของนายยาห์รี ดือเลาะ และชาวบ้าน เพื่อขอขุดศพที่ภรรยาของนายยาห์รี ระบุว่าเป็นสามีของตน เพื่อการตรวจดีเอ็นเอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส วันที่ 10 ธันวาคม 2565
ภาพ ญาติของนายยาห์รี ดือเลาะ

อัตลักษณ์ของชายที่มีผู้พบเห็นเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำสุไหงโกลก นราธิวาส เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังเป็นปริศนาต่อไป หลังจากที่ญาติของยาห์รี ดือเลาะ และเพื่อนบ้าน ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ขุดศพชายที่ภรรยาของ นายยาห์รี ดือเลาะ ระบุว่าเป็นสามีของตนไปตรวจดีเอ็นเอ

ในก่อนหน้านี้ นางนูไรนิง ดือรอแม ภรรยาของนายยาห์รี กล่าวว่า แผลที่ขาของศพตรงกับแผลที่ขาของนายยาห์รีที่ตนจำได้ และทางญาติ ๆ จึงได้ฝังศพไว้ที่กุโบร์ปาฮงกือปัส อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ลายนิ้วมือของศพไม่ตรงกับลายนิ้วมือนายยาห์รี ในทะเบียนราษฎร์ และการตรวจดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อที่เน่าเปื่อยไม่ได้ผล

นายยาห์รี ดือเลาะ (ชื่อไทย) หรือที่แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นระบุถึงในนาม ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ อายุ 42 ปี เป็นสมาชิกขบวนการ ซึ่งถูกลักพาตัวในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายนนี้ โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบของไทยก่อนกลายเป็นศพ  

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ได้เดินทางไปยังกุโบร์ปาฮงกือปัส เพื่อจะขุดศพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของนายยาห์รี มาเพื่อเก็บสารพันธุกรรม แต่ต้องยอมล้มเลิกความตั้งใจเพราะครอบครัวของนายยาห์รี และชาวบ้านคัดค้านแผนดังกล่าวจนเกือบบานปลาย

“เขาไม่ให้ขุด ก็ไม่เป็นไร เราก็ไม่ขุด เพราะเราถือว่าเราได้ทำตามกฎหมาย เนื่องจากหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าศพนี้ไม่ใช่นายยาห์รี ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางฝ่ายปกครองเขาก็ยืนยัน ไม่ใช่สามีเขา ไม่ใช่คนในครอบครัวของเขา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเก็บศพไว้ทำไม” พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ตามกฎหมายเราต้องนำศพขึ้นมาตรวจสอบว่าเป็นศพของใคร เผื่อญาติเขากำลังตามหา ถ้าศพนี้เป็นศพของญาติเขา เขาจะคิดอย่างไร เราต้องมองหลายมุม... ไม่เป็นไรเราก็ไม่อยากไปทำลายมวลชนเปล่า ๆ อยากให้ประชาชนรู้เองว่าทำไม เขารู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่ แต่เขาต้องการศพนั้นเพื่ออะไร”

ด้าน นางนูไรนิง ดือรอแม ภรรยาของนายยาห์รี ระบุว่า กรณีที่เกี่ยวกับสามีเธอเสร็จสิ้นแล้ว แม้ก่อนหน้านี้เธอจะพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายยาห์รี

“ศพนั้นเป็นของสามีฉัน ฉันเลยรับศพไปเพื่อทำพิธีฝัง ก็ไม่เอาอะไรแล้ว” นางนูไรนิง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

หลังจากมีชาวบ้านพบ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ศพดังกล่าวถูกนำไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม นางนูไรนิง ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลอีกครั้ง และยืนยันว่าแผลเป็นบนขาของศพตรงกับของนายยาห์รี และครอบครัวได้ขอรับศพไปประกอบพิธีฝังศพ โดยยังไม่มีผลการตรวจดีเอ็นเอให้เรียบร้อย

พ.ต.อ. ปรัชญา ไบเตะ ผกก. สภ.สุไหงโก-ลก กล่าวว่า ในการตรวจสอบและยืนยันดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องได้ตัวอย่างดีเอ็นเอจากไขกระดูกเพื่อส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพราะเนื้อเยื่อที่เก็บได้จากศพก่อนหน้านี้ มีสภาพที่เน่าเปื่อยเกินไปจนไม่สามารถใช้ตรวจพิสูจน์ได้

ขณะที่ พล.ต.ท. นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลต่อไปหรือไม่

“ด้วยหลักการชั้นสูตรพิสูจน์ศพ ถือว่ายังไม่สำเร็จลุลวงเพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยสาเหตุอะไร ตายเมื่อไหร่” พล.ต.ท. นันทเดช กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

ข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยอุ้มฆ่า

ตามประวัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย นายยาห์รี เป็นบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคง 3 หมาย คือ คดีวางเพลิงและปล้นรถยนต์ ในอำเภอตากใบ นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560, คดียิงคนหาของป่าบาดเจ็บ 2 ราย ในอำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และคดียิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตที่อำเภอสุไหงปาดี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 (ต่อมามีการถอนหมายจับ) หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายยาห์รีได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย

หลังจากการพบศพในแม่น้ำโกลก บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ศพที่ถูกพบเป็นศพของสมาชิกระดับอาวุโส ชื่อ ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ หรือยาห์รี

อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของบีอาร์เอ็น อ้างว่านายยาห์รีถูกอุ้มขึ้นรถโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย จากเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายน และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนการเสียชีวิตของนายยาห์รี

“เราเร่งติดตามหาคนร้าย ยังหาตัวไม่เจอ” เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งขอสงวนนามเพราะไม่มีอำนาจให้ข่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เดอะปาตานี” ระบุว่า การลักพาตัวนายยาห์รี ไม่ใช่การลักพาตัวครั้งแรก โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการลักพาตัวคนไทยในต่างแดนแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง รวมทั้งเคสนายยาห์รี

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า นับตั้งแต่การปะทุของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงกว่า 7,344 คน และบาดเจ็บ 13,641 คน มีทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น พยายามดำเนินการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่สะดุดลงเพราะการระบาดของโควิด-19   

มาจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น มีกำหนดเจรจากันแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งที่ 6 แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง