อานนท์ นำภา ติดโควิด-19 ตามการเปิดเผยของราชทัณฑ์
2021.05.06
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายอานนท์ นำภา จำเลยข้อหา ม.112 ในคดีชุมนุม 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง ถูกตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ตามการเปิดเผยของกรมราชทัณฑ์ ขณะที่ศาลอนุญาตให้ประกัน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยคดีเดียวกัน ด้วยวงเงิน 2 แสนบาท มีเงื่อนไขห้ามชุมนุม และพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์
นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีและโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยผ่านจดหมายของกรมราชทัณฑ์ว่า นายอานนท์ ถูกตรวจพบเชื้อโควิด-19 วานนี้ ปัจจุบัน ถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว
“นายอานนท์ นำภา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ติดเชื้อ COVID-19 จริง โดยตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 5 พ.ค. สันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อจากนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน แกนนำคณะราษฎรที่ตรวจพบเชื้อไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 23 เม.ย.สำหรับนายอานนท์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูงจากการกักตัวร่วมกันกับนายจัสติน… ได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว” นายธวัชชัย กล่าว
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นางมาลัย นำภา มารดาของนายอานนท์ ได้ทำเรื่องขอต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อนำตัวนายอานนท์ไปรักษาโควิด-19 ยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว
“ตอนนี้ทนายอานนท์ถูกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คุณแม่ของทนายอานนท์มีความประสงค์ที่จะขอให้ส่งตัวทนายอานนท์ไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม เพราะกังวล ในเรือนจำพิเศษมีการระบาดของโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยินดีที่จะย้ายไปรักษาที่อื่นนะ แต่ขอว่าเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ถ้าหากมีโรงพยาบาลไหนตอบรับก็ยังดี คุณแม่ได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทางโรงพยาบาลว่ายินดีที่จะรับมาดูแล” นายฤษฎางค์ กล่าว
นายอานนท์ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีข้อหา ม.112 ในคดีชุมนุม 19 กันยายน 2563 และไม่ได้รับการประกันตัวหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยนายอานนท์ ถูกควบคุมตัวที่แดนกักกันโรค เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ร่วมกับจำเลยอีกหลายคน
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ หลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 (เอเอฟพี)
ในวันเดียวกัน น.ส.ปนัสยา ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 59 วัน หลังจากที่ ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวหลังอัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 และเริ่มอดอาหารในวันที่ 30 มีนาคม 2564 เพื่อประท้วงการที่ผู้ต้องหา และจำเลยทางการเมืองไม่ได้รับการประกันตัว ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว หลังจากที่ช่วงเช้าศาลได้นัด น.ส.ปนัสยา ไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ก่อนมีคำสั่งปล่อยตัวในช่วงบ่าย
“นางสาวปนัสยา หรือรุ้ง จำเลยที่ 5 แถลงต่อศาลด้วยความสมัครใจว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่ไปกระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร มาศาลตามกำหนดนัด และเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีของศาล… กรณีถือได้ว่าพฤตกิการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท” ตอนหนึ่งขอเอกสารข่าวระบุ
ด้าน นายฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัว หลังไต่สวนพยานรวม 5 คน
“เมื่อตอน 5 โมงเย็น ศาลอ่านคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวรุ้ง ปนัสยา… โดยวางเงินสดเป็นหลักประกัน 2 แสนบาท แม่ของรุ้งเป็นนายประกัน… ไม่มีการติดกำไลอีเอ็มอะไรทั้งสิ้น” นายฤษฎางค์ กล่าว
หลังได้รับการปล่อยตัว น.ส.ปนัสยา กล่าวแก่มวลชนที่มารอที่หน้าประตูทัณฑสถานหญิงกลางว่า “สู้กันต่อค่ะ” และนั่งรถส่วนตัวกลับบ้านพักทันที
ขณะที่การขอประกันตัวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยในคดีเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมนัดไต่สวนคำร้องขอประกันในวันเดียวกันนั้น การพิจารณาจำเป็นต้องเลื่อนไปก่อน เพราะปัจจุบัน นายพริษฐ์อยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19
“เพนกวิน กรมราชทัณฑ์แจ้งมาเมื่อวาน วันที่ 5 ว่ายังอยู่ในกำหนดการกลับตัวพิสูจน์หาเชื้อ โคโรนา 2019 มาได้ก็เมื่อวันที่ 7 พรุ่งนี้ ศาลก็เลยไม่เบิกมา เมื่อได้คุยกันศาลท่านก็บอกว่า จะนัดพร้อมไว้ก่อนวันที่ 12 พฤษภา แต่หากพรุ่งนี้มีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่า พร้อมที่จะพามาได้ เราก็จะยื่นคำร้องแล้วก็ ไต่สวนพรุ่งนี้เลย” นายฤษฎางค์ ระบุ
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีเดียวกันกับ น.ส.ปนัสยา โดยต่อมา วันที่ 15 มีนาคม 2564 นายพริษฐ์ ได้ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงการไม่ได้สิทธิประกันตัว ทำให้ถึงปัจจุบัน อดอาหารไปแล้ว 52 วัน ทำให้น้ำหนักลด และมีอาการทางร่างกายน่าเป็นห่วงจนเรือนจำฯ ได้ส่งตัวเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ก่อนจะถูกนำตัวกลับมารักษาต่อยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในภายหลัง โดยราชทัณฑ์เปิดเผยว่า นายพริษฐ์ อาการดีขึ้น สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ นม และวิตามินได้เป็นปกติแล้ว
กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 90 ราย ใน 83 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 20 คดี, นายอานนท์ 12 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี โดยปัจจุบัน มีผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ม.112 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และวิพากษ์-วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563-2564 จำนวน 22 คน มีผู้ที่เคยถูกคุมขัง และได้รับการประกันตัวแล้ว 8 คนรวม น.ส.ปนัสยา
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว