ใบปอ-ผักบุ้ง ถูกส่งห้องฉุกเฉิน หลังอาการทรุดเพราะอดอาหาร
2022.07.18
กรุงเทพฯ

น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือผักบุ้ง นักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวัง ถูกนำตัวไปตรวจอาการอย่างเร่งด่วนที่โรงพยาบาลเลิดสิน ก่อนที่การตรวจพยานหลักฐานในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ จะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันจันทร์นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวทางทวิตเตอร์ว่า ใบปอและผักบุ้ง จำเลยในคดี ม. 112 จากการทำโพลล์ “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้อดอาหารประท้วงการถูกปฏิเสธการขอประกันตัวมา 47 วัน มีอาการย่ำแย่ลงมาก จากการตรวจของเจ้าหน้าที่อาสาพยาบาลประจำศาลอาญากรุงเทพใต้
“10.48 น. เจ้าหน้าที่อาสาพยาบาลประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ประเมินอาการวิกฤตจากการอดอาหารประท้วงของบุ้งและใบปอแล้ว และได้ตัดสินใจพาตัวทั้งสองคนนำส่งไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดแล้ว… โดยทั้งสองถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉิน ทันที ขณะนี้แพทย์พยายามตรวจและวินิจฉัยอาการอยู่” ศูนย์ทนายฯ กล่าวทางทวิตเตอร์ และระบุว่า น.ส.เนติพร ต้องขอนั่งรถเข็น
ต่อมา ศูนย์ทนายฯ แจ้งว่า ทั้งสองคนได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ และได้ถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
“แพทย์ชี้ คาดบุ้งปวดท้องเพราะกระเพาะอักเสบ/ตับอ่อนอักเสบ ให้กลับไปตรวจละเอียดที่ รพ.ราชทัณฑ์ เพราะต้องใช้หมอนิติเวช ซึ่ง รพ.นี้ไม่มี และหมอไม่ให้อยู่ รพ.ต่อ แจงอาการไม่อยู่ในกรอบให้แอดมิด ทั้งนี้ รพ.ราชทัณฑ์ก็ไม่มีหมอนิติเวชเช่นกัน แต่ราชทัณฑ์แจงสามารถขอหมอจาก รพ.ตำรวจให้ได้ หลังจากนี้ บุ้ง-ใบปอ จะถูกส่งตัวไปตรวจโดยละเอียดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งคาดว่าราชทัณฑ์จะขอแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชจาก รพ.ตำรวจ มาตรวจอาการวิกฤตจากการอดอาหารประท้วงให้ทั้งสองคนต่อไป” ศูนย์ทนายฯ ระบุ
ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวคนทั้งคู่เป็นครั้งที่ 7 ด้วยวงเงินคนละ 2 แสนบาททันที อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการรอศาลพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่
ด้านนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า
“ในระยะสั้น ราชทัณฑ์ควรอนุญาตให้นำตัวทั้งคู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ระยะต่อไปคือ ให้สิทธิการประกันตัวแก่เขา และสุดท้ายคือ ต้องยกเลิกการดำเนินคดี เพราะตามหลักสากลแล้ว การทำโพลล์ถือเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติวิธี ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างความหวาดให้กับสังคมโดยการตั้งข้อหาร้ายแรงกับผู้ที่เห็นต่าง ทั้งทะลุวัง ซึ่งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และการทำร้ายร่างกาย และใช้คดีรุนแรงกับกลุ่มทะลุแก๊สที่ออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่แล้วร้ายที่สุดไม่ควรเกิดขึ้น”
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้วันเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และประชาชน ได้รวบรวมรายชื่อกว่า 290 รายชื่อ ส่งถึงประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาผู้สั่งคดีและคณะผู้บริหารศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องให้ศาลให้สิทธิการประกันตัวแก่ น.ส. ณัฐนิช และ น.ส.เนติพร
“หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่อาจเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายรับรองไว้เสียแล้ว แม้ในท้ายที่สุดศาลจะพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้รับความเป็นธรรม และไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม เพราะในระหว่างกระบวนการ จำเลยได้ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไปเสียก่อนแล้ว โดยเฉพาะคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องเสียชีวิตไปภายใต้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลด้วยเหตุผลในคำสั่งศาลที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ย่อมส่งผลกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ส่วนหนึ่งของหนังสือ ระบุ
ทั้งนี้ น.ส. ณัฐนิช อายุ 20 ปี เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหา คดี ม. 112 แล้ว 3 คดี จากการทำโพลล์ “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 จากการแชร์โพสต์ของเพจทะลุวัง เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ ปี 2565 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 และ จากการทำโพลล์ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” ที่จตุจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ส่วน น.ส. เนติพร ถูกดำเนินคดี 1 คดี จากการทำโพลล์เดียวกันที่จตุจักร
ทั้งคู่ถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และศาลไม่เคยอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลย ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ทั้งคู่เริ่มอดอาหาร เพื่อประท้วงการที่ตนเองไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ทำให้ทั้งคู่ถูกควบคุมมาแล้ว 77 วัน และอดอาหารมาแล้ว 47 วัน
ทะลุวัง ถือเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ และอยู่ในกระแสการชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดย ทะลุวัง เริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี 2565
นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,832 คน ในจำนวน 1,095 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย ซึ่งรวมถึงเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด
ล่าสุดในวันเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาจำคุก นายมีชัย (สงวนนามสกุล) เกษตรกรวัย 51 ปี เป็นเวลา 4 ปี ก่อนลดท่อนกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 8 เดือน ในคดี ม. 112 จากการเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊ก วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ศาลพิพากษาให้นายมีชัย มีความผิดตาม ม. 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม. 14(3)