น้ำท่วมตราด-จันทบุรี กระทบร่วม 7 หมื่นไร่ 3.5 หมื่นหลังคาเรือน
2024.07.30
กรุงเทพฯ

เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดตราด และจันทบุรี กรมควบคุมและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนได้รับความเสียหายเกือบ 7 หมื่นไร่ และประชาชนได้รับผลกระทบร่วม 3.5 หมื่นหลังคาเรือน ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 5 สิงหาคมนี้
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤต
“ถือว่าน้ำท่วมในรอบประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ปีนี้ปริมาณฝนที่มันตกลงมามาก ทำให้ระบายน้ำออกไม่ทัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ การแก้ไขเฉพาะหน้าก็ช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ณ เวลานี้ถือเป็นวิกฤตถนนหลายสายถูกตัดขาดการสัญจร กระทรวงเกษตรโดยชลประทาน ผมได้สั่งการให้ทางท่านอธิบดี รองอธิบดี ลงมาในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวาน ประเมินสถานการณ์แก้ไขปัญหา” ร.อ. ธรรมนัส กล่าว
ปภ. ได้เปิดเผยข้อมูลพื้นที่ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่า เบื้องต้น จ.จันทบุรี พื้นที่ อ.มะขาม, อ.ขลุง, อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.เมือง ได้รับผลกระทบใน 16 ตำบล 74 หมู่บ้าน 33,397 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 41,222 ไร่ และใน อ.เขาสมิง จ.ตราด มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,227 หลังคาเรือน พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายแล้ว 27,115 ไร่
นายอรัญ พงศ์ศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาจำเป็นที่รัฐบาลต้องยื่นมือมาแก้ไข
“ต้องอาศัยรัฐบาล เพราะมันเกินอำนาจของท้องถิ่น เกินอำนาจของจังหวัด ก็สบายใจที่รัฐบาลจะมาช่วยเหลือ” นายอรัญ กล่าว
ในวันเดียวกัน ปภ. ได้แจ้งเตือนให้พื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อ.มะขาม อ.ขลุง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และอ.เมือง อ.เขาสมิง อ.บ่อไร่ จ.ตราด เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังเป็นพิเศษ
“ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณน้ำท่วมแนวสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า หรือวัตถุสื่อนำกระแสไฟฟ้า ระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง เพื่อความปลอดภัยควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำและน้ำตก” ปภ. ระบุ
ล่าสุด อ.เขาสมิง จ.ตราด ได้สั่งปิดโรงเรียน 5 แห่ง จากภาวะอุทกภัยแล้ว และประกาศรับบริจาคสิ่งของจำเป็นประกอบด้วย 1. ข้าวสาร 2. อาหารแห้ง 3. น้ำดื่ม 4. ไข่ไก่ 5. ผ้าอ้อม,ผ้าอนามัย 6. เทียน,ไฟแช็ก,ไฟฉาย 7. ยากันยุง ยารักษาโรค และอื่น ๆ
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ฝนที่ตกอย่างหนักต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เป็นสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้
“ฝนตกสะสมในจังหวัดตราดเพียงจังหวัดเดียวของปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15% ฝนตกสะสม 3,086 มิลลิเมตร จากปกติ 2,600 มิลลิเมตร เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องช่วงวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ปริมาณกว่า 300 มิลลิเมตร จากนั้นยังตกหนักกว่า 100 มิลลิเมตร อีกเป็นสัปดาห์” นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับสื่อมวลชน
ต่อการแก้ปัญหา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลจะนำปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่มาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า
“ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงตรวจพื้นที่ภาคตะวันออก และรายงานว่า ยังสามารถควบคุมได้อยู่ ในสัปดาห์หน้า วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม จะไปประชุมบูรณาการแผนการจัดการเรื่องน้ำ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่กรมชลประทาน เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลาย ๆ พื้นที่ในต่างจังหวัด” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมนำทหารเข้ามาช่วยเหลือดูแลพื้นที่น้ำท่วม และเตรียมป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในภาคอื่น ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส เสนอแนวทางให้ท้องถิ่นเร่งโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง คือ ห้วยสะตอ และอ่างคลองแอ่ง ในจังหวัดตราด ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 เพื่อป้องกันน้ำท่วม และแก้ปัญหาแล้ง