กำหนดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ 22 พ.ย. นี้

มารียัม อัฮหมัด
2023.11.02
ปัตตานี
กำหนดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ 22 พ.ย. นี้ ชาวมุสลิมร่วมงานฝังศพนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ในกุโบร์ มัสยิดกลาง จังหวัดสงขลา วันที่ 23 ตุลาคม 2566
เบนาร์นิวส์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ แทนที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ที่ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้แสดงความคิดเห็นว่าต้องการได้ผู้ที่มีความสามรถในการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

นายอนุทิน ระบุว่า การเลือกจุฬาราชมนตรี จะมีขึ้นในเวลา 08.00 น. ณ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ

“หลังจากนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และข้อ 1 ของกฎกระทรวง (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม” นายอนุทิน ระบุ

นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ถึงแก่อนิจกรรมหลังอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 13 ปี โดยตำแหน่ง จุฬาราชมนตรี จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อเสียชีวิต ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง

จุฬาราชมนตรี มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อส่วนราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประชากรไทยที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบเหตุรุนแรงโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น มานานหลายทศวรรษ จึงทำให้จุฬาราชมนตรีต้องรับภาระในการช่วยแก้ปัญหาไปด้วยในตัว

นายรุสดี บาเกาะ รองประธาน คณะกรรมการอิสลาม จังหวัดยะลา กล่าวว่า การเลือกจุฬาราชมนตรีเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะต่อคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“จุฬาราชมนตรีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะร่วมกันในการแก้ปัญหาในพื้นที่ คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นจุฬาฯ ขั้นแรก เรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว สำหรับในพื้นที่สามจังหวัด เราจะทำยังไงให้จุฬาราชมนตรีที่จะมีบทบาทแก้ปัญหาด้านศาสนาและด้านความมั่นคงด้วย คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนจะต้องตระหนักและต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัตินี้ให้ได้” นายรุสดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“คนสามจังหวัดต้องการจุฬาราชมนตรีที่มาจากคนพื้นที่สามจังหวัดเพราะมุสลิมส่วนใหญ่ ในประเทศไทย 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราสามารถสรรหาคนจากพื้นที่ เราก็จะได้จุฬาฯ ที่รู้ปัญหามากที่สุดและรู้ความต้องการที่แท้จริงของคนพื้นที่ และต้องยอมรับว่าคนพื้นที่สามจังหวัดมีความเคร่งครัดเรื่องศาสนามากกว่าคนพื้นที่อื่น” นายรุสดี กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอิสมะแอ ดอเลาะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าตนเองต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจากเดิม

“จุฬาราชมนตรี คนที่ 19 อยากได้ที่เป็นสายกลาง ๆ เก่ง และเคร่งครัดศาสนา สามารถนำประชาชาติอิสลามดำเนินชีวิตไปตามหลักศาสนาบัญญัติ ไม่เอาชุดเก่าเพราะหลาย ๆ อย่างก็มีอะไรที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ตามหลักจริง ๆ ซึ่งถ้าจะให้ดีควรเลือกหลังจากที่ได้คณะกรรมการอิสลามชุดใหม่ทั้งหมดแล้ว” นายอิสมะแอ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การเลือกจุฬาราชมนตรี

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตามกฎหมายต้องมีคุณสมบัติ เป็นชาวมุสลิม มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยถูกพิพากษาจำคุก เว้นแต่เป็นโทษที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความรู้ และเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา และเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สำหรับขั้นตอนการเลือก ระบุว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดวันเวลา และสถานที่ในการเลือกจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลาม (กกอ.) ประจำจังหวัดทั่วประเทศ 40 จังหวัด 816 คน จะเข้าร่วมการสรรหา โดยกระบวนการจะเริ่มได้ต้องมี กกอ. มาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ กกอ. ทั้งหมด และมีการลงคะแนนโดยทางลับ

ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรีต้องมีผู้รับรองอย่างน้อย 20 คน ถ้ามีผู้ถูกเสนอเพียงคนเดียว ผู้นั้นจะได้ดำรงตำแหน่งทันที แต่ถ้าหากมีผู้ถูกเสนอชื่อเกิน 3 ชื่อ ให้ประธานการประชุมจับฉลากเลือก กกอ. เป็นกรรมการสรรหา แล้วลงคะแนนลับเพื่อให้เหลือผู้ชิงตำแหน่งเพียง 3 ชื่อ แล้วที่ประชุมลงคะแนนลับเพื่อเลือกจุฬาราชมนตรีจาก 3 รายชื่อ ผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

หลังจากมีการกำหนดวันเลือกจุฬาราชมนตรีในวันที่ 22 พฤศจิกายน นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เปิดเผยว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรี

“เท่าที่ทราบจะมีแคนดิเดตจำนวน 3 คน มี 1. นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 2. ผมก็พร้อมที่จะลงคัดสรร และ 3. ดร. วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จะมีการเสนอชื่อจากนั้นคณะกรรมการอิสลาม 40 จังหวัด 816 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่จะหมดวาระในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้เป็นผู้เลือก ก็ค่อนข้างจะรีบเร่งไปนิดหนึ่ง” นายประสาน กล่าว

ด้าน ดร. วิสุทธิ์ ในฐานะผู้ที่ถูกเสนอชื่อระบุว่า “เมื่อวานที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการประจำจังหวัดสงขลา และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้ผมลงสมัครรับการคัดเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี ซึ่งจากการที่เห็นหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงมีความยินดีที่จะลงรับคัดเลือกตามมติของคณะกรรมการ”

เบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อไปที่นายอรุณ ผู้ถูกเสนอชื่ออีกราย แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

ประวัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี

นายอรุณ บุญชม จบปริญญาตรี สาขาอัลฮะดีษและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลาม ประเทศซาอุดีอาระเบีย และปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยสอนอิสลามศึกษา และภาษาอาหรับ ระดับซานะวีย์ ที่โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน) เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน (สุเหร่าบ้านดอน) กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน กกอ. กรุงเทพฯ รองประธาน กกอ. แห่งประเทศไทย ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์ และอุปนายกสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

นายประสาน ศรีเจริญ หรือชารีฟ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลาม ประเทศซาอุดีอาระเบีย เคยเป็น ประธาน กกอ. กรุงเทพฯ วิทยากรประจำสำนักอภิธรรมอันยุมันอิสลาม เจริญกรุง บางรัก นายกสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน กกอ. ประจำจังหวัด รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และประธานฝ่ายวิชาการ คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ ประจำปี 2566

ดร. วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ จบปริญญาตรี สาขาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์ ปริญญาโท สาขาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ประเทศมาเลเซีย และปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยเป็นอิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ สงขลา หัวหน้าฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ กกอ. สงขลา อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยฟาฎอนี ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน กัลป์ยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ ประธานฝ่ายวิชาการ การศึกษาและการบริหารกองทุนวากัฟ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง