ชุมชนกะเหรี่ยงใช้นวัตกรรมสู้ไฟป่าและฝ่ากฎหมายไทย

ชาวบ้านใช้โดรนตรวจจับควัน และใช้เซนเซอร์บันทึกอุณหภูมิและมลพิษทางอากาศ
สุเบล ราย บันดารี สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2023.04.21
ชุมชนกะเหรี่ยงใช้นวัตกรรมสู้ไฟป่าและฝ่ากฎหมายไทย ดีปุ๊นุ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงของหมู่บ้านป่าแป๋ นำทีมต่อสู้กับไฟป่าในพื้นที่ป่าลึก วันที่ 4 เมษายน 2566
สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย

ในห้วงตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายดีปุ๊นุได้นอนแค่ไม่กี่ชั่วโมงในแต่ละค่ำคืน

ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงวัย 37 ปี พาเยาวชนในหมู่บ้านเข้าไปดับไฟป่าที่โหมอยู่ในป่าลึกทางตอนเหนือ มาจนถึงเวลานี้ เพลิงไหม้อาจลุกลามเข้าไปทำลายหมู่บ้านป่าแป๋ ที่ตั้งอยู่บนดอยช้าง ซึ่งเป็นภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

มีเพียงแค่รถขับเคลื่อนสี่ล้อหรือมอเตอร์ไซค์เท่านั้นที่จะเข้าถึงหมู่บ้าน 70 หลังคาเรือนนี้ได้ จากนั้นต้องเดินทางต่อไปอีกไม่กี่กิโลเมตร เพื่อไต่เขาขึ้นไปดูแนวหน้าของไฟป่า

“เราจัดกะแบบ 12 ชั่วโมงโดยใช้แรงงาน 6-12 คนเฝ้าไฟ” นายดีปุ๊นุกล่าว และบอกว่าปีนี้แย่กว่าปีไหน ๆ เพราะอากาศแห้งขึ้น ไฟจึงไม่ยอมมอดเสียที

“ถ้าเราไม่สู้ หมู่บ้านของเราก็ต้องถูกเผาทำลาย”

 karen wildfire2.jpg

ชาวบ้านป่าแป๋ ในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 4 แสนลิตรไว้เพื่อต่อสู้ควบคุมไฟป่า วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

ด้านนายพรชัย มุแฮ ผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการเฝ้าไฟ ให้ข้อมูลว่าไฟเริ่มลุกลามน่าเป็นห่วงและไม่มีน้ำในบริเวณใกล้เคียงเลย

“นี่คืองานหิน เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพื่อชุมชนของเรา”

“เราทั้งเหนื่อยและรู้สึกแย่ โดยเฉพาะเวลาที่คนเมืองโทษเราว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดไฟป่าและมลพิษทางอากาศ แต่กลุ่มของเราแน่นแฟ้นดี และเราช่วยกันให้กำลังใจกันเอง” นายพรชัยกล่าว

ชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นชนเผ่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในเก้ากลุ่มหลัก ๆ ในประเทศไทย กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค รวมทั้งในประเทศพม่าและลาว

“เราคือคนของป่า” นายชาญชัย กุละ ผู้เฒ่าแห่งหมู่บ้านป่าแป๋กล่าวว่า ชุมชนอย่างพวกเราอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ มันเลยเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงชอบมีปัญหากับกรมอุทยาน

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงประสบปัญหาการโดนปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ที่กล่าวหาว่าชุมชนได้บุกรุกพื้นที่เพื่อเข้าไปเผาป่า

ในประเทศไทย พื้นที่น้อยกว่าหนึ่งในสามของประเทศคือพื้นที่ป่า พระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับใหม่ที่บังคับใช้ในปี 2562 จึงระบุว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซนต์ภายในปี 2567

karen wildfire3.jpg

ชาวบ้านโชว์ภาพจากกล้องวิดีโอส่งแบบเรียลไทม์จากบนยอดดอยช้าง วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ที่ผ่านมา ชุมชนหมู่บ้านป่าแป๋ทำสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อรับการสถาปนาเป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าและสามารถทำเกษตรกรรมได้ตามวิถีดั้งเดิม

พื้นที่กว่า 21,000 ไร่ ( 3,360 เฮกเตอร์) จึงถูกอนุรักษ์ไว้ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงแรกตั้งแต่ที่มีการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ชาวบ้านดำรงชีวิตและทำมาหากินกับป่าในเขตที่ระบุไว้ได้ ตามเงื่อนไขครั้งละ 20 ปี

“เราต้องรับผิดชอบป่าส่วนนี้… ตอนนี้ชุมชนมีความเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว” นายดีปุ๊นุกล่าว

นวัตกรรมเพื่อต่อสู้ของชาวบ้าน

นายดีปุ๊นุเอ่ยว่า เขากำลังต่อสู้เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่หมู่บ้านของเขา “โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงความเป็นหมู่บ้านในระหว่างกระบวนการ” เพราะพวกเขากำลังต่อสู้กับทั้งกฎหมายของรัฐ ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และการย้ายออกจากพื้นที่ของคนหนุ่มสาว

เขาสังเกตเห็นควันครั้งแรกผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือตอนกลางเดือนมีนาคม ส่งจากกล้องหนึ่งในสองตัวที่เขาติดตั้งไว้บนยอดเขา เพื่อตรวจจับไฟป่า เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรีนี้ถูกเชื่อมไว้กับอุปกรณ์ส่งข้อมูลซิมการ์ดไร้สายและสามารถควบคุมได้จากที่อื่น

karen wildfire4.jpg

ถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตรจำนวนกว่าสิบใบถูกวางเรียงรายใกล้กับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้บนดอยช้าง จังหวัดลำพูน วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

ก่อนหน้านี้ ทีมสำรวจของหมู่บ้านต้องไต่เขาขึ้นไปเพื่อสำรวจควัน แต่ในปัจจุบัน กล้องที่ติดตั้งไว้สามารถเก็บภาพโล่งกว้างแบบพาโนรามาของพื้นที่ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน

บางครั้งชาวบ้านก็ใช้โดรนเพื่อตรวจจับควัน และติดตั้งเซนเซอร์ไว้หลายที่เพื่อวัดค่าและบันทึกค่าอุณหภูมิและมลพิษทางอากาศ

นายชาญชัยกล่าวว่า นวัตกรรมเหล่านี้จึงเป็นนวัตกรรมที่หมู่บ้านเตรียมพร้อมไว้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนและประเด็นปัญหาอื่น ๆ พร้อมเสริมว่า

“เราต้องเจอกับสิ่งท้าทายมากมาย เพราะแนวกันไฟไม่ได้ทำงานตามที่ควรจะเป็นตามวิถีดั้งเดิม ดังนั้นเราจึงต้องคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมา” 

ในช่วงหลังของปีนี้ ชาวบ้านวางแผนที่จะติดตั้ง ‘ระบบหัวกระจายน้ำ’ ในป่า เพื่อที่พวกเขาจะได้เปิดใช้งานจากที่ไกล ๆ หากพบว่าไฟป่ากำลังจะมา

“ถ้าวิธีนี้ใช้ได้ผล จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่าหมู่บ้านชนเผ่าอื่น ๆ จะได้นำไปใช้ได้ด้วย” นายดีปุ๊นุเสริมและกล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเขามีน้ำไว้ใช้งาน แค่ 60 เปอร์เซนต์เท่านั้นในการดับไฟป่าครั้งก่อน ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องเก็บกักน้ำในแทงค์ขนาด 2,000 ลิตรเอาไว้มากมายตามพื้นที่เสี่ยง พวกเขายังต้องขุดบ่อน้ำไว้กลางหมู่บ้านเพื่อกักเก็บน้ำกว่า 4 แสนลิตรอีกด้วย

karen wildfire5.jpg

ชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงบอกตำแหน่งพื้นที่เพาะปลูกในปี 2565 ในป่าแป๋ จังหวัดลำพูน วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

วิถีเกษตรดั้งเดิม

ชุมชนกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนเป็นทุนเดิม ซึ่งวิธีการทำไร่เช่นนี้ ชาวไร่ต้องเผาพื้นที่ป่าและเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกหมุนเวียนกันไปทุก ๆ ปี เพื่อพักให้ที่ดินผืนนั้นฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ซึ่งวิถีนี้ถือเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไทยเห็นแย้งจนถึงปัจจุบัน

“บ้านหนึ่งเพาะปลูกได้มากที่สุด 5 ไร่ (0.8 เฮกเตอร์) ซึ่งพวกเขาจะปลูกข้าว มันสำปะหลัง และผักอีกหลายชนิด เท่านั้นก็อยู่ได้แล้ว” นายจิรเดช เงินขำ สมาชิกหมู่บ้านกล่าว

หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะกลับไปเพาะปลูกในพื้นที่เดิมหลังจากที่เวลาผ่านไป 7-8 ปี

ช่วงก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะเผาเศษซากพืชที่หลงเหลืออยู่ในผืนดินตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตน เพื่อที่แร่ธาตุจะได้กลับคืนสู่ดิน นายเกรียงไกร บุญฐา สมาชิกหมู่บ้านอีกคนกล่าว

“เราระมัดระวัง มันไม่เคยออกนอกการควบคุมของเรา ไม่เคยเกิดขึ้นเลยสักครั้ง” เขาย้ำ

“การเผาไร่หมุนเวียนเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ รวดเร็วและอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ได้เผารวดเดียวพร้อมกัน ดังนั้นมันจึงไม่เกิดมลพิษทางอากาศมาก” ชิ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ จากสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระบวนการถางและเผานี้ ก็นำไปสู่การเข้าใจผิดของสังคมว่า การทำเกษตรกรรมของกะเหรี่ยงนั้นเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ จากการที่รัฐแก้ปัญหาด้วยนโยบาย “ปลอดการเผา” ต่าง ๆ

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า วิธีการปล่อยนโยบายแบบนี้ “เหมารวมความเป็นผู้ร้ายให้แก่ชาวบ้าน”

“ที่ภาคเหนือ มีการเผาอยู่สองรูปแบบ คือการเผาที่จำเป็นและไม่จำเป็น เราจะต้องกระทำการเผาที่ไม่จำเป็นอีกมากมาย หากเราไม่ยอมกระทำการเผาที่จำเป็นเสียก่อน” เขากล่าว

“เราต้องมีความชัดเจนเรื่องสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศ มันไม่ได้เกิดจากการเผาไร่หมุนเวียน แต่เกิดจากวัฒนธรรมการเผาเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว และไฟป่า”

ชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวอ้างว่าสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เมื่อมีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระดับอุตสาหรรมเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาเพาะปลูกเพื่อทำเงิน

karen wildfire6.jpg

บาทหลวงคาทอลิกและพระสงฆ์ใช้ผ้าพันรอบลำต้นของต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตัดหรือทำลาย ในป่าแป๋ จังหวัดลำพูน วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

นักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายติงว่า การเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นหนึ่งจากสองสาเหตุของการทำลายสถิติมลพิษทางอากาศทางตอนเหนือของประเทศไทย

ด้านชาวบ้านป่าแป๋กล่าวว่า พวกเขาได้รับข้อเสนอให้ทำสัญญาเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธ

นายดีปุ๊นุกล่าวว่า พวกเขาปฏิเสธเพราะสัญญาไม่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต และทิ้งท้ายว่า “มันส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม ความเชื่อ และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อป่า”

บาทหลวงและพระสงฆ์ร่วมทำพิธีให้ต้นไม้

ชาวบ้านป่าแป๋จัดเตรียมระบบแผนที่สำรวจเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลท้องถิ่นอยู่ข้างพวกเขา โดยแจ้งพิกัดทางภูมิศาสตร์ว่า ชาวบ้านจะหมุนเวียนไปเพาะปลูกในพื้นที่ใดในแต่ละปี รวมถึงจุดสำคัญอย่างพื้นที่ทางจิตวิญญาณและศาสนา และสุสาน

ในช่วงต้นของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านป่าแป๋จัดงานเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนท้องถิ่นอื่น ๆ โดยมีผู้ว่าการอำเภอและจังหวัด และเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เข้าร่วมด้วย

บาทหลวงชาวคาทอลิกและพระหลายรูป พันเชือกศักดิ์สิทธิ์รอบต้นไม้เพื่อพิทักษ์ป่า ชาวบ้านสะท้อนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำศาสนาทั้งสองมาร่วมกันแสดงออกถึงการต่อสู้เพื่อต่อต้านการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

“กะเหรี่ยงถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า เผาป่า แต่พวกเขาไม่ได้ทำแบบนั้น” นายประเชิญ สมองดี ผู้ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งที่คอยสังเกตการณ์หมู่บ้านป่าแป๋ กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ หลังจบพิธี

“ชุมชนนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาอย่างน้อย 140 ปีแล้ว พวกเขาอยู่ร่วมกันกับป่าและใช้ป่าเพื่อเลี้ยงปากท้อง” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า ข้อมูลในการใช้พื้นที่ที่ได้มาจากชาวบ้านนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และให้รายละเอียดเกี่ยวกับป่าและต้นไม้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบได้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น

karen wildfire7.jpg

การทำเครื่องหมายห้ามตัดหรือทำลายบนต้นไม้ในหมู่บ้านหลายต้น ในบ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนตั้งป่าแป๋ให้เป็น ‘หมู่บ้านดั้งเดิมตัวอย่าง’ ในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม และเสริมว่าเขาจะใช้ชุดข้อมูลนี้เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ

“ข้อมูลนี้จะช่วยให้รัฐเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น เพราะมันแสดงให้เห็นว่าชาติพันธุ์ใช้ประโยชน์จากพื้นที่และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างไร” เขากล่าว

นายพฤ โอโดเชา ผู้นำกะเหรี่ยงและผู้ที่อาศัยอยู่กับป่าจากอีกชุมชนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มาร่วมงานกล่าวว่า ชุมชนเหล่านี้อยู่กับป่ามากว่าร้อยปีแล้ว ก่อนที่พื้นที่นี้จะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ

เขาบอกว่าสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเป็นสัญญาณเตือนภัย แต่สัญญาณเตือนภัยที่ใหญ่กว่านั้น คือ มนุษย์

“สำหรับคนเมือง อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ เหมือนที่พวกเขาเห็นป่าสีเขียว ๆ พูดคุยเรื่องการปลูกป่า คาร์บอนเครดิต และธุรกิจสีเขียว” เขากล่าว

“ชาวบ้านคือ ผู้ที่พิทักษ์ธรรมชาติ แต่เงินกลับไหลไปสู่รัฐ” 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง